ทุกๆ บ้านนั้นเต็มไปด้วยของสะสมบางอย่างที่เราไม่เข้าใจว่าจะเก็บไว้ทำไมอยู่เต็มไปหมด เนื่องจากว่าคนเราให้คุณค่ากับสิ่งของที่มีความรู้สึกหรือความทรงจำของเราเข้าไปอยู่ด้วยเช่น แสตมป์ ชุดกาน้ำชา เหรียญ พระเครื่อง และในช่วงราว ๆ 30-40 ปีที่ผ่านมา เมื่อตลาดของเล่นญี่ปุ่นเติบโตขึ้นของสะสมแบบใหม่ก็ถือกำเนิดขึ้นมาซึ่งก็คือ “ฟิกเกอร์ (Figure)” นั่นเอง
ฟิกเกอร์ (Figure) คืออะไร?
ฟิกเกอร์ (Figure) หรือ อนิเมะฟิกเกอร์ (Anime Figure) คือ สินค้าตัวละครจากเกมหรืออนิเมะที่สร้างขึ้นมาในรูปแบบโมเดลสามมิติ โดยใช้วัสดุหลักเป็นเรซิ่นหรือยางพลาสติก (PVC)
ตัวโมเดลจะมีการโพสท่าที่แตกต่างกัน อาจเป็นท่าโพสที่ตัดออกมาจากช่วงหนึ่งของอนิเมะหรือเป็นท่าโพสใหม่ที่คิดขึ้นมาสำหรับตัวโมเดลโดยเฉพาะเลย ตัวโมเดลนั้นมีทั้งแบบที่ขยับได้และขยับไม่ได้ ทั้งคู่ถูกผลิตมาเพื่อใช้ตั้งโชว์และเก็บสะสมเป็นหลัก
ฟิกเกอร์มีที่มาอย่างไร?
เดิมทีนั้นฟิกเกอร์ก็เป็นเหมือนของเล่นอย่างหนึ่งซึ่งถูกจัดไปรวมในหมวดของ “Toy” เพราะสินค้าอนิเมะในยุคแรกที่ทำมาจากการ์ตูนอนิเมะถูกผลิตออกมาเพื่อขายให้กับเด็กเป็นหลัก ก็จะถูกมองว่าเป็นของเล่นไปเสียหมด
ต่อมาราว ค.ศ. 1980 ฟิกเกอร์ถูกผลิตออกมาให้กับตลาดผู้ใหญ่มากขึ้น มีฟิกเกอร์หุ่นยนต์ไปจนถึงตัวละครผู้หญิงในชุดวาบหวิว18+ ตามกระแสของการ์ตูนอนิเมะที่เปลี่ยนไป
ในปัจจุบันฟิกเกอร์มีรูปแบบที่มากขึ้นและมีลูกเล่นที่ต่างกันเปิดไลน์สินค้าที่หลากหลายจนตามซื้อตามเก็บกันไม่ทันเลยทีเดียว
ฟิกเกอร์ต่างจากโมเดลอย่างไร?
ฟิกเกอร์และโมเดลนั้นเหมือนกันในแง่ของสินค้าที่ใช้เพื่อการสะสมและตั้งโชว์ แต่ฟิกเกอร์เป็นคำนิยามที่เฉพาะเจาะจงสำหรับโมเดลที่เป็นตัวละคร ในขณะที่โมเดลนั้นเรียกกว้างๆ เป็นสินค้าจำลองของอย่างอื่นก็ได้อย่างโมเดล เรือ รถยนต์ รถถัง เป็นต้น
ฟิกเกอร์มีกี่ประเภท?
ฟิกเกอร์ในปัจจุบันตามท้องตลาดหากแบ่งเป็นหมวดใหญ่จะแบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่
- ฟิกเกอร์ PVC คือ ฟิกเกอร์ที่ผลิตจากวัสดุยางพลาสติก PVC ลงสีตัวโมเดลมาพร้อม (แบบ pre-painted) ให้เราเปิดกล่องแล้วนำไปตั้งโชว์สวย ๆ ได้เลย งานที่ออกมาจะเป็นมาตรฐานเดียวกันหมดเพราะผลิตออกมาจากโรงงานเป็นล็อตใหญ่
- ฟิกเกอร์เรซิ่น คือ ฟิกเกอร์ที่ผลิตจากเรซิ่น ฟิกเกอร์ประเภทนี้จะเป็นงานอดิเรกเฉพาะทางสักหน่อย เพราะทำจากเรซิ่น มาเป็นชิ้นส่วนให้เราประกอบและทำสีโมเดลเอง จำเป็นต้องมีสกิลในการทำสีโมเดลหรือต้องไปจ้างทำซึ่งราคาก็จะสูงเอาเรื่องอยู่ เป็นที่นิยมน้อยกว่าแบบ PVC เพราะเข้าถึงยากกว่า
นอกจากนี้ฟิกเกอร์ PVC ก็ยังแยกย่อยออกเป็นอีกหลายรูปแบบ เช่น
- Figma เป็นแบบที่ขยับข้อต่อได้
- Nendoroid เป็นตัวจิ๋วน่ารักเปลี่ยนชิ้นส่วนถอดได้มีจุดขยับเล็กน้อย
- ฟิกเกอร์ขนาดเล็กที่ได้จากตู้กาชาปอง
หาซื้อฟิกเกอร์ได้ที่ไหนบ้าง?
ในประเทศญี่ปุ่น
อย่างที่เรารู้กันอยู่แล้วว่าสินค้าอนิเมะต้องไปซื้อที่อากิฮาบะระหรือเรียกแบบย่อว่า “อากิบะ” เพราะมีร้านค้าฟิกเกอร์อยู่รวมกันมากมายหลายร้าน ที่จริงแล้วฟิกเกอร์ได้รับความนิยมอย่างมากในญี่ปุ่น จึงสามารถหาซื้อตามเมืองใหญ่แทบจะทุกเมืองเลย มีร้านฟิกเกอร์กระจายอยู่ตามเขตต่างๆ เพียงแต่เราต้องรู้จักชื่อร้านก่อนกดเสิร์ชใน Google Map ก็จะเด้งร้านที่อยู่ใก้ลขึ้นมาเลย
ราคาของฟิกเกอร์นั้นแทบจะเท่ากันหมดทุกร้านเพราะมีราคากลางที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ นอกจากว่าจะเป็นสินค้ามือสองที่ไม่มีผลิตแล้วราคาอาจจะแตกต่างกันออกไปแล้วแต่คนที่นำมาขาย
ร้านขายฟิกเกอร์เจ้าดังที่ญี่ปุ่นนั้นก็หนีไม่พ้น Animate, Kotobukiya หรือร้านเฉพาะทางไปเลยอย่าง Pokemon Store ที่จะขายแต่ของโปเกมอนเท่านั้น หากเป็นร้านขายฟิกเกอร์มือสองยอดนิยม ได้แก่ Mandarake, Book off ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเจ้าใหญ่ที่มีแฟรนไชส์อยู่หลายสาขาในญี่ปุ่น
แต่ถ้าได้ไปเดินที่ย่านนากาโนะ บรอดเวย์, ย่านอากิฮาบาระ หรือ อากิบะ ที่โตเกียว, เดนเดนทาวน์ที่โอซาก้า จะมีร้านอนิเมะร้านเล็กร้านย่อยกระจายอยู่เต็มไปหมด ต้องเผื่อเวลาไปเดินอย่างน้อยครึ่งวันกันเลย แล้วถ้าจะแวะทุกร้านวันเดียวก็คงไม่พอ
ในประเทศไทย
สำหรับในไทยนั้นมีร้าน Animate มาเปิดที่ MBK ซึ่งราคาสูงกว่าร้านอื่นที่นำเข้ามาเองพอสมควรแต่การันตีว่าได้ของแท้แน่นอน ร้านอื่นๆ ในไทยจะอยู่ที่สะพานเหล็กซึ่งปัจจุบันคือตึกเมก้าบูรภา ส่วนมากจะเป็นสินค้าในตู้ใสที่คนเอามาฝากขายกัน
ถ้าอยากได้ของที่มีราคาถูกลงมาหน่อยก็สามารถสั่งได้จากร้านค้าออนไลน์บนเฟสบุ๊ค หรือกลุ่มซื้อขายบนเฟสบุ๊คแต่ต้องระวังเรื่องการถูกโกงด้วย ควรเลือกซื้อกับร้านที่รู้จักและไว้ใจได้เท่านั้น อย่าเลือกเพียงเพราะราคาถูก
ฟิกเกอร์ของแท้ดูอย่างไร?
ฟิกเกอร์ของแท้นั้นดูได้ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงเลยคือราคา ฟิกเกอร์แบ่งเป็นหลายระดับหากเป็นงานตู้คีบ (ฟิกเกอร์ที่ได้จากตู้คีบ) จะมีราคาไม่แพงมากประมาณ 500-600 บาท ส่วนฟิกเกอร์ที่ขายในระดับพรีเมี่ยมนั้นมีราคาตั้งแต่ 1000-50,000 บาทเลย
ดังนั้นก่อนอื่นเราต้องรู้ราคาก่อนว่าตัวที่เราอยากได้นั้นมีราคาขายเท่าไรที่ญี่ปุ่น เมื่อแปลงค่าเป็นเงินไทยบาทแล้วก็บวกเพิ่มไปอีกหน่อยสัก 500-1,500 บาทจะเป็นราคากลางที่ร้านทั่วไปในไทยน่าจะขายกัน
ถ้าเจอว่าถูกกว่าราคาญี่ปุ่นเยอะมาก ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นของปลอม เช่น Nendoroid ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ตัวละ 1,000-2,500 บาท ของปลอมมักจะขายอยู่ที่ 400-900 บาท
ต่อมาให้ดูที่กล่องแพคเกจ คุณภาพของกล่องกระดาษนั้นเราจะรู้สึกได้ว่าของปลอมกล่องและถาดพลาสติกจะบางไม่แข็งแรง ตัวพิมพ์สีไม่คมชัด สติกเกอร์เลเซอร์โลโก้ของผู้ผลิตไม่เป็นสามมิติหรือพิมพ์ไม่ชัด ไม่เงางาม
ในส่วนสุดท้ายคือตัวสินค้าคุณภาพของ PVC สีหม่นไม่สดใสแข็งหยาบ งานไม่เนี้ยบมีครีบ มีเศษพลาสติกจากการหล่อตัวโมเดล สีที่ใช้ดูหยาบไม่เรียบเนียนไปกับผิวและไม่สดสว่าง ตัวฟิกเกอร์ยืนได้ไม่ตรงหรือมีบางส่วนที่บิดเบี้ยวหักงอผิดรูปไป
ปัจจุบันสินค้าปลอมนั้นมีการพัฒนาคุณภาพให้ใก้ลเคียงของแท้มากขึ้นทั้งแพคเกจและตัวสินค้า การดูว่าฟิกเกอร์ของจริงหรือของปลอมนั้นจำเป็นต้องมีประสบการณ์ระดับหนึ่งคือถ้าเห็นงานของแท้บ่อย ๆ พอมาเจอของปลอมก็จะรู้ทันทีเลยว่ามันปลอมยังไง เพราะจะมีจุดเล็กน้อยที่คนรู้จักของแท้ดูออก คล้ายกับการดูของแบรนด์เนมนั่นแหละ
มือใหม่สะสมฟิกเกอร์ เริ่มต้นอย่างไรดี?
การสะสมฟิกเกอร์เป็นงานอดิเรกที่ทำตามความชอบของเรา ถ้าแค่ชอบก็ซื้อเลยไม่ต้องคิดมาก (แต่ควรดูเงินในกระเป๋าด้วย) สิ่งที่ต้องระวังสำหรับมือใหม่คือมีความเสี่ยงที่จะได้ของปลอมมา ควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนซื้อ และควรเลือกซื้อกับร้านที่มีเครดิตดีหรือเป็นที่รู้จักจะดีที่สุด
ฟิกเกอร์ (Figure) ไม่ต่างจากของสะสมอื่น ๆ ฟิกเกอร์ก็เป็นของสะสมที่มีความทรงจำ มีอารมณ์ของเราเข้าไปผูกติด ความประทับใจในตัวละคร ความทรงจำที่ดีของอนิเมะที่เราได้ดู สะท้อนถึงความชื่นชอบตัวละครนั้นของเราออกมาเป็นวัตถุที่จับต้องได้ แค่วางไว้ในบ้านเดินผ่านมาเห็นก็ทำให้เรารู้สึกดีได้
ส่งท้าย
ถึงแม้ว่าผู้ใหญ่บางคนยังมองว่าฟิกเกอร์คือของเด็กเล่นแต่ในความเป็นจริงแล้วตลาดของฟิกเกอร์นั้นมีมูลค่ามหาศาลโดยลูกค้าหลักก็คือผู้ใหญ่วัยทำงาน แถมฟิกเกอร์บางตัวก็มีราคาสูงขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไปด้วยเพราะเป็นของ Limited Edition ที่ไม่มีผลิตอีกแล้วนั่นเอง ฟิกเกอร์คืองานศิลปะในโลกยุคใหม่เลยก็ว่าได้