วันนี้เราก็มีเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างการรับประทานอาหารที่ญี่ปุ่นและที่ไทยมาฝากค่ะ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของมารยาทบนโต๊ะอาหารและวัฒนธรรมในการกินอาหารที่แตกต่างกันค่ะ ไปดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้างที่นักท่องเที่ยวอย่างเรามักจะเจอบ่อย ๆ เวลาไปญี่ปุ่น!
ความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมการกินอาหารที่ญี่ปุ่นและไทย
1. สั่งอาหารโดยซื้อตั๋วที่ตู้
ตอนเข้าร้านอาหารที่ญี่ปุ่น ถ้าไม่เป็นแบบที่มีพนักงานมาคอยพาไปนั่งตามที่นั่งและรับออเดอร์ ก็จะเป็นการกดซื้อตั๋วกับตู้ที่เขียนว่า 「食券」Shokken (แปลได้ว่าตั๋วอาหาร) ซึ่งมักอยู่ตรงข้าง ๆ ทางเข้าร้านค่ะ และตามศูนย์อาหารส่วนใหญ่ก็จะใช้วิธีการสั่งโดยกดซื่้อตั๋วจากตู้เช่นกัน ขั้นตอนก็คือ
- ให้ดูหน้าตาเมนูตามป้ายหรืออาหาร (ปลอม) ที่โชว์หน้าร้านไว้ก่อน เนื่องจากเมนูบนตู้มักมีแต่ภาษาญี่ปุ่น
- ให้เราจำตัวอักษรญี่ปุ่นคร่าว ๆ และราคาเอาไว้ แล้วค่อยมากดซื้อตั๋วที่ตู้ บางแห่งถ้ามีหมายเลขกำกับบนเมนู ก็จะสะดวกหน่อย
- เมื่อได้ตั๋วมาแล้วก็ยื่นให้พนักงานอีกทีค่ะ (ยื่นตอนได้ที่นั่งแล้ว หรือยื่นที่เคาน์เตอร์สั่งอาหาร แล้วแต่ร้านนะคะ)
นอกจากนี้ สำหรับร้านที่ไม่ได้ซื้อตั๋วที่ตู้ เราจะชำระเงินตอนที่รับประทานเสร็จแล้ว โดยนำบิลที่วางบนโต๊ะไปที่เคาน์เตอร์ก่อนออกจากร้านค่ะ
2. มีผ้าเย็น ผ้าร้อน และผ้าเช็ดโต๊ะ
เวลาเข้าร้านอาหารที่ญี่ปุ่น บางครั้งก็จะมีผ้าเย็นหรือผ้าร้อนซึ่งเป็นผ้าขนหนูสีขาวม้วน หรือมาในห่อพลาสติกแบน ๆ มาเสิร์ฟให้ก่อน ซึ่งจะใช้สำหรับเช็ดมือเท่านั้น ห้ามนำไปใช้เช็ดหน้า เช็ดคอ หรือแม้กระทั่งเช็ดโต๊ะนะคะ นอกจากนี้ตามร้านที่ต้องบริการตัวเอง ก็จะมีผ้าเช็ดโต๊ะวางไว้บนโต๊ะให้เลย ซึ่งให้เราสามารถใช้เช็ดทำความสะอาดโต๊ะได้เองเลยค่ะ (สังเกตง่าย ๆ ผ้าเช็ดโต๊ะจะดูมอม ๆ นั่นเอง อิอิ)
3. มีคำกล่าวก่อนและหลังทานอาหาร
คนญี่ปุ่นจะมีการพนมมือพร้อมกับกล่าวว่า 「いただきます」Itadakimasu (แปลได้ว่าจะรับประทานแล้ว) ก่อนรับประทานอาหาร และ 「ごちそうさま」Gochisousama (แปลได้ว่าขอบคุณสำหรับมื้ออาหาร) หลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว นอกจากนี้ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเคยผ่านช่วงที่ขาดแคลนอาหารจากการแพ้สงคราม จึงทำให้คนญี่ปุ่นค่อนข้างให้ความสำคัญต่ออาหาร จึงควรทานอาหารให้หมดด้วยนะคะ
4. ระวังเรื่องการใช้ตะเกียบ
คนญี่ปุ่นนั้นจะใช้ตะเกียบในการกินอาหารเป็นหลัก ซึ่งมีข้อควรระวังที่คนไทยอาจจะไม่รู้อยู่หลายอย่างด้วยกัน สำหรับข้อที่ร้ายแรงก็มีดังนี้
- ห้ามเอาตะเกียบปักในชาม (เหมือนอาหารสำหรับไหว้คนตาย)
- ห้ามใช้ตะเกียบรับของต่อจากตะเกียบ (เหมือนการรับอัฐิคนตาย)
ส่วนข้อควรระวังอื่น ๆ ในการใช้ตะเกียบ เช่น
- ห้ามเลียตะเกียบ และห้ามคาบตะเกียบไว้ในปาก
- ห้ามใช้ตะเกียบจิ้มอาหารขึ้นมา หรือลากภาชนะมาใกล้ ๆ
- ห้ามวนตะเกียบไปมาเพราะเลือกทานไม่ถูก หรือเขี่ยหาเฉพาะอาหารที่ชอบ
- ไม่ควรใช้มือรองอาหารขณะคีบเข้าปาก เพราะกลัวว่าจะร่วง (ควรใช้จานเล็ก ๆ หรือภาชนะแบ่งรองแทน)
- ไม่ควรโบกตะเกียบไปมาเพื่อประกอบท่าทางระหว่างที่พูดคุย (ควรวางก่อนที่จะพูด)
- ไม่ควรวางตะเกียบพาดไว้บนภาชนะ (ควรจะวางไว้ตรงที่พักตะเกียบหรือซองใส่ตะเกียบแทน)
5. ยกชามข้าวหรือชามอาหารขณะกิน
ชามข้าวหรือชามอาหารของญี่ปุ่นมักเป็นชามเล็ก ๆ เพื่อให้สามารถยกขึ้นมาได้ง่าย เวลากินก็ให้ใช้มือซ้ายหรือมือข้างที่ไม่ได้จับตะเกียบประคองชามขึ้นมาระดับอก ยกเว้นจานขนาดใหญ่และมีน้ำหนักที่ไม่สามารถยกขึ้นมาได้ด้วยมือเดียว ไม่ควรก้มหน้าเอาปากเข้าไปใกล้ภาชนะเพราะเป็นการเสียมารยาทค่ะ นอกจากนี้เวลากินก็ให้กินกับข้าวก่อน แล้วค่อยกินข้าวสวยแยกกันทีละคำค่ะ ซึ่งต่างจากคนไทยที่จะกินอาหารพร้อมกับข้าวสวยในคำเดียว
6. กินซุปจากถ้วยให้ยกซด
โดยทั่วไปแล้วคนไทยจะใช้ช้อนตักซุป แต่ที่ญี่ปุ่นนั้นจะใช้วิธีการยกถ้วยซดโดยใช้สองมือประคองเลยค่ะ ซึ่งรวมถึงการยกชามซดน้ำซุปจากอาหารพวกเส้นด้วยค่ะ การยกซดแบบนี้ถ้าทำในร้านอาหารญี่ปุ่นที่ไทย บางคนก็ว่าแปลก แต่จริง ๆ แล้วก็เป็นการทานซุปแบบญี่ปุ่นนะคะ สามารถใช้ตะเกียบคีบอาหารในถ้วยได้ โดยขณะกินให้ใช้มือซ้ายประคองไว้ระดับอกค่ะ
นอกจากนี้ถ้าเป็นถ้วยแบบมีฝา ให้ใช้มือซ้ายประคองด้านข้างและเปิดฝาด้วยมือขวา ตะแคงฝาไว้เล็กน้อยเพื่อให้ไอน้ำไหลลงถ้วยไปก่อน แล้วใช้สองมือประคองมาวางหงายไว้ทางด้านขวาของถ้วย หรือหากถ้วยวางอยู่บนถาด ให้วางไว้นอกถาดทางด้านขวา และเมื่อทานหมดแล้วก็ควรปิดฝาด้วยนะคะ
7. กินซูชิแบบญี่ปุ่น
เวลากินซูชิ ควรกินให้หมดในคำเดียว โดยคีบซูชิใส่ปากครึ่งชิ้น แล้วค่อยดันที่เหลือเข้าไป ไม่ควรอ้าปากกว้างเพื่อกินให้ได้ทั้งชิ้น เวลาจิ้มโชยุให้ใช้ตะเกียบคีบแล้วตะแคงให้เนื้อปลาลงไปในโชยุ โดยไม่ให้ข้าวโดนโชยุจนแตกลงไปในน้ำจิ้ม แล้วหากต้องการกินกับวาซาบิ ให้ใช้ตะเกียบคีบวาซาบิเล็กน้อยมาป้ายบนเนื้อปลา จะไม่เอาวาซาบิทั้งก้อนละลายไปในโชยุแบบที่คนไทยหลายคนชื่นชอบ เพราะทำให้ได้รสเผ็ดค่ะ
สำหรับการกินซูชิให้ได้รสชาติที่ดีนั้น ควรเลือกกินจากปลาที่รสชาติอ่อน โดยสังเกตง่าย ๆ จากสีของเนื้อปลา ให้เริ่มกินจากปลาเนื้อสีขาวก่อน ถัดมาเป็นสีเงิน และสีแดง ทั้งนี้ควรรีบกินซูชิทันทีที่มาเสิร์ฟ หากปล่อยทิ้งไว้นานจนเนื่้อแห้งและอุ่นเกินไป จะทำให้เสียรสชาติได้ค่ะ
8. กินเสียงดังไม่ใช่เรื่องแปลก
การกินอาหารพวกเส้น เช่น ราเมน โซบะ อุด้ง แล้วซู้ดเสียงดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเสียมารยาทนะคะ แต่กลับเป็นการแสดงว่าอาหารนั้นอร่อยค่ะ และส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากคนญี่ปุ่นกินอาหารเร็วมากด้วยค่ะ แบบว่ารีบซู้ดรีบไป ถ้าเข้าร้านพวกนี้ก็จะได้ยินเสียงซู้ดเซอร์ราวด์รอบทิศทางค่ะ มานั่งแป๊บ ๆ ก็ทานเสร็จแล้ว ในขณะที่คนไทยอย่างเรายังกินไปได้แค่ครึ่งชาม 555
9. ต้องยกภาชนะไปคืนหลังทานเสร็จ
ที่ไทยจะมีคนคอยเก็บภาชนะหลังที่เราลุกจากโต๊ะไปแล้ว แต่ร้านอาหารที่ต้องบริการตัวเองในญี่ปุ่นนั้นจะมีช่องสำหรับคืนภาชนะ โดยจะมีป้ายอยู่ด้านบนว่า 「返却口」Henkyaku Guchi (แปลได้ว่าที่ส่งคืน) ซึ่งเราต้องเป็นผู้ยกไปคืนเองหลังที่รับประทานอาหารเสร็จ รวมถึงร้านตามศูนย์อาหารบางแห่งก็อาจจะมีช่องรับคืนภาชนะของแต่ละร้านเอง ตรงนี้ต้องสังเกตดี ๆ นะคะ
10. ไม่นิยมให้ทิป
ที่ญี่ปุ่นไม่มีธรรมเนียมเรื่องการให้ทิปตอนที่จ่ายเงินหลังทานอาหารเสร็จแล้ว และยังถือว่าการบริการเป็นสิ่งที่ทำให้ด้วยใจ จึงไม่รับทิปกันค่ะ เชื่อว่าใครที่ได้ไปลองใช้บริการต่าง ๆ ในญี่ปุ่นจะต้องประทับใจ ทั้งความใส่ใจและรอยยิ้มของพนักงานอย่างแน่นอนค่ะ
11. ไม่เดินไปกินไป
เวลาเราซื้ออาหารหรือขนมจากร้านข้างทางที่ญี่ปุ่นนั้นจะยืนทานกันตรงแถว ๆ บริเวณร้านเลยค่ะ เพื่อป้องกันเวลาเดินไปกินไปแล้วทำให้อาหารไปเลอะคนอื่น และอีกอย่างอีกคือ ถังขยะหายากค่ะ ซึ่งตรงหน้าร้านก็จะมีถังขยะวางไว้ พอกินเสร็จแล้วก็โยนทิ้งได้เลย
12. สูบบุหรี่ในร้านอาหารได้
สมัยก่อนในร้านอาหารที่ญี่ปุ่นนั้นสามารถสูบบุหรี่ได้เป็นเรื่องปกติค่ะ แม้จะเป็นร้านห้องแอร์ก็ตาม แต่ปัจจุบันได้มีการออกกฎหมายใหม่เมื่อปี 2020 ทำให้ห้ามสูบบุหรี่ภายในร้านอาหาร แต่ก็จะมีข้อยกเว้นสำหรับบางร้าน โดยจะต้องแปะป้ายให้เห็นชัดเจน หากเป็นร้านอิซากายะหรือร้านเหล้าแบบญี่ปุ่น และบาร์บางแห่งก็อาจจะมีห้องสำหรับสูบบุหรี่ไว้ให้บริการค่ะ
ส่งท้าย
จากทั้ง 12 ความแตกต่างระหว่างการรับประทานอาหารที่ญี่ปุ่นและที่ไทยที่เรายกมานี้ จะเห็นชัดได้เลยว่าเป็นเรื่องของมารยาทบนโต๊ะอาหาร โดยส่วนใหญ่ บางครั้งเราก็อาจจะเผลอทำตามความเคยชินเพราะบางเรื่องนั้น คนไทยไม่ถือหรือไม่มีสิ่งเหล่านี้ในวัฒนธรรมไทย หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เพื่อน ๆ เข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของชาวญี่ปุ่นมากขึ้นนะคะ
บทความอาหารน่ารู้
- ราเมง โซบะ อุด้ง : 3 เส้นบะหมี่ญี่ปุ่นนี้ต่างกันอย่างไร?
- ซูชิ ซาชิมิ : 2 เมนูปลาดิบนี้ของญี่ปุ่นต่างกันอย่างไร?
- โอโคโนมิยากิ มอนจายากิ : 2 เมนูพิซซ่าญี่ปุ่นนี้ต่างกันอย่างไร?
- 10 ความแตกต่างน่ารู้ก่อนไปญี่ปุ่น : การทานอาหารที่ญี่ปุ่น VS ที่ไทย
- 8 ความแตกต่างน่ารู้ก่อนไปญี่ปุ่น : เครื่องดื่มที่ญี่ปุ่น VS ที่ไทย