Home เที่ยวญี่ปุ่น 6 ความแตกต่างน่ารู้ก่อนไปญี่ปุ่น : รถบัสประจำทางในญี่ปุ่น VS ที่ไทย
รถบัสประจำทางในญี่ปุ่น

6 ความแตกต่างน่ารู้ก่อนไปญี่ปุ่น : รถบัสประจำทางในญี่ปุ่น VS ที่ไทย

by Faiz
8101 views

นอกจากรถไฟในญี่ปุ่นแล้ว รถบัสประจำทางก็เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องใช้บริการกันค่ะ วันนี้เราก็เลยจะมาแนะนำเกี่ยวกับ 6 ความแตกต่างระหว่างรถบัสประจำทางในญี่ปุ่นและที่ไทย ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้บริการและวิธีการโดยสารที่แตกต่างกัน ไปดูกันเลยดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง!

5 ความแตกต่างระหว่างรถบัสประจำทางในญี่ปุ่นและที่ไทย

รถบัสประจำทางในญี่ปุ่น

• ตารางเดินรถแยกวันธรรมดา-วันหยุด

รถบัสประจำทางบางสายที่วิ่งในเมืองที่ญี่ปุ่นนั้นมีกำหนดตารางเวลาเดินรถที่ต่างกันค่ะ โดยหลัก ๆ จะแบ่งเป็น ตารางสำหรับวันธรรมดา และ ตารางสำหรับวันหยุด (เสาร์อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) รอบรถที่ให้บริการจึงมีความแตกต่างกันไป เช่น วันธรรมดามีรถวิ่งทุก 20 นาที ส่วนวันหยุดมีรถวิ่งทุก 15 นาที เป็นต้น

ทั้งนี้ประจำทางในเมืองนั้นค่อนข้างมาตรงตามตารางเวลาถ้ารถไม่ติดนะคะ นักท่องเที่ยวสามารถเช็คเวลาได้ตามเว็บไซต์หรือโบรชัวร์ที่แจกบริเวณที่ศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยวหรือที่จำหน่ายตั๋วโดยสารตรงท่ารถบัสตามเมืองใหญ่ ๆ รวมทั้งบริเวณป้ายรถบัสด้วยค่ะ

• ไม่ต้องโบกรถเมล์

รถบัสประจำทางที่ญี่ปุ่นจะจอดทุกป้ายตามเส้นทางค่ะ ถ้าเราไปยืนรอที่ป้าย (ต้องรอให้ถูกป้ายนะคะ) รถก็จะจอดรับเราโดยไม่ต้องโบกเรียกเลยค่ะ (ที่ไทยขนาดโบกสุดแขนแล้ว ก็ยังขับเลยไปเฉยเลย ฮือ~)

ก่อนขึ้นรถก็ควรเช็คหมายเลขและเส้นทางให้ดีก่อนนะคะ ส่วนตอนลงรถนั้นก็ไม่ต่างกันทั้งที่ไทยและญี่ปุ่น คือ ต้องกดกริ่งก่อนที่จะถึงป้ายค่ะ (กดได้เลยหลังจากที่ประกาศว่าป้ายถัดไปคือที่ไหน)

รถบัสประจำทางในญี่ปุ่น

• แยกประตูทางขึ้น-ลง

การขึ้นรถบัสประจำทางที่ญี่ปุ่นมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ คือ 1) หากรถมีแค่ประตูทางด้านหน้า ก็ให้ขึ้นและลงรถที่ประตูเดียวกัน 2) หากรถมี 2 ประตู จะให้ขึ้นทางประตูกลางและลงทางประตูหน้า หรือให้ขึ้นทางประตูหน้าและลงทางประตูกลาง

สังเกตได้ไม่ยากค่ะ จะมีป้ายแปะไว้ตรงประตูด้านนอกรถเลย หรือดูจากคนอื่นที่รอขึ้นก็ได้ นอกจากนี้รถบัสที่ญี่ปุ่นบางคันยังสามารถรองรับผู้โดยสารที่ใช้รถเข็นโดยสามารถเข็นขึ้นรถบัสไปได้เลยค่ะ

หมายเหตุ:

  • รถเมล์ NGV รุ่นใหม่ที่เป็นสีฟ้าของไทยสามารถรองรับผู้โดยสารที่ใช้รถเข็นได้แล้ว และยังมีการทางประตูทางขึ้นลงด้วยนะคะ

• รอให้รถจอดแล้วค่อยลุก

ข้อนี้ตรงข้ามกับที่ไทยอย่างสิ้นเชิง ที่ญี่ปุ่นนั้นเราต้องรอให้รถเมล์หรือรถบัสจอดสนิทที่ป้ายก่อนแล้วค่อยลุกจากที่นั่งนะคะ เนื่องจากมันอันตรายหากลุกเดินระหว่างที่รถกำลังวิ่งอยู่ แต่เชื่อว่าสกิลคนไทยนั้นสบายมากแน่นอนค่ะ (เคยลุกไปกดกริ่งช้า โดนคนขับรถเมล์ที่ไทยบ่นใส่อีก ฮือ~)

ภายในรถประจำทางญี่ปุ่น

• ไม่มีกระเป๋ารถเมล์

บนรถประจำทางที่ญี่ปุ่นนั้นไม่มีพนักงานเก็บเงินบนรถนะคะ (มีแต่คนขับ) แต่จะใช้การจ่ายเงินตรงตู้บริเวณข้างคนขับค่ะ ซึ่งมีทั้งรับเป็นเงินสด (ไม่ทอนเงิน แลกเหรียญได้ที่เครื่องแลกข้างคนขับ) และการใช้บัตร IC Card เช่น Suica (มีเฉพาะบางสาย) [ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ IC Card] โดยการเก็บเงินอาจจะแตกต่างกันไป

หากขึ้นทางประตูหน้าก็จะมีวิธีการเก็บเงิน 2 แบบค่ะ คือ ถ้าเป็นแบบราคาเดียวตลอดทางก็จะให้จ่ายเงินตอนที่ขึ้นเลย (เจอในโตเกียว) หรือจ่ายตอนลงรถทีเดียวค่ะ (มักเจอในต่างจังหวัด)

หากขึ้นทางประตูกลางและลงทางประตูหน้า ตอนที่ขึ้นรถมาแล้วเจอกล่องให้หยิบตั๋วตรงข้างประตู แสดงว่ารถคันนั้นคิดค่าโดยสารแบบตามระยะทาง ซึ่งตั๋วนั้นจะบอกหมายเลขไว้ให้เทียบราคาที่ต้องจ่ายตอนลงรถค่ะ โดยสามารถดูอัตราค่าโดยสารได้บนจอตรงหน้ารถ ถ้าไม่มีกล่องตั๋วก็จ่ายราคาเดียวตอนลงรถได้เลยค่ะ

• มีตั๋ววันราคาประหยัด

ตามเมืองใหญ่ ๆ และเมืองท่องเที่ยว เช่น โตเกียว นาโกย่า เกียวโต คานาซาว่า เซนได คาวากูจิโกะ จะมีจำหน่ายตั๋ววัน (One Day Pass) สำหรับขึ้นรถบัสประจำทางในเมืองแบบไม่จำกัดเที่ยวค่ะ ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าโดยสารได้มากหากต้องการเดินทางท่องเที่ยวไปหลาย ๆ ที่ และที่สำคัญคือ สะดวกเวลาชำระค่าโดยสารด้วยค่ะ

นักท่องเที่ยวสามารถหาซื้อตั๋ววันได้ตามท่ารถบัสหรือศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวของเมืองค่ะ โดยปกติแล้วค่าโดยสารสำหรับผู้ใหญ่ในญี่ปุ่นจะเริ่มต้นที่ประมาณ 200 เยน ตั๋ววันก็จะเริ่มต้นที่ประมาณ 500 เยน (เด็กจ่ายครึ่งราคา) อย่างไรก็ตามสามารถตรวจสอบราคาที่แน่นอนได้ตามเว็บไซต์ของเมืองที่จะเดินทางไปนะคะ

ความแตกต่างระหว่างรถบัสประจำทางในญี่ปุ่นและที่ไทยทั้ง 5 ข้อนี้ บางข้ออาจะดูงง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับวิธีการชำระค่าโดยสาร พอถึงเวลาจริงก็ดูและทำตามคนอื่นหรือไม่ก็ถามกับคนขับได้เลยค่ะ ถ้าใช้ IC Card ก็ลดความงงในการจ่ายเงินไปได้ระดับหนึ่ง และถ้าใช้พวกตั๋ววันนี่ก็สบายหายห่วงค่ะ ขอแค่ขึ้นรถสายที่ร่วมกับตั๋วนั้นค่ะ


บทความแนะนำ

บทความที่เกี่ยวข้อง