รถไฟเป็นการเดินทางที่นักท่องเที่ยวต้องได้ใช้อย่างแน่นอน ซึ่งเราจะมาบอกเล่าเกี่ยวกับ 12 ความแตกต่างระหว่างรถไฟในญี่ปุ่นและที่ไทยกันค่ะ โดยเป็นเกร็ดความรู้และทริคในการใช้รถไฟที่แตกต่างกับที่ไทยและน่าจะมีประโยชน์สำหรับคนที่จะไปเที่ยวญี่ปุ่น ไปดูกันเลยดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง!
12 ความแตกต่างระหว่างรถไฟในญี่ปุ่นและที่ไทย
• รถไฟมีหลายสาย
สายรถไฟในญี่ปุ่นดำเนินงานโดยบริษัทที่ต่างกัน ซึ่งหลักๆ มีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ ซึ่งคือ
- รถไฟ JR : เป็นกลุ่มบริษัทรถไฟญี่ปุ่นที่แปรรูปมาจากการรถไฟญี่ปุ่น มีเส้นทางรถไฟที่ครอบคลุมทั่วทั้งญี่ปุ่น รวมถึงชินคันเซ็น เน้นใช้เดินทางระหว่างเมืองและภูมิภาค และมี JR Pass ซึ่งเป็นตั๋วที่สามารถใช้ขึ้นรถไฟ JR ได้ไม่จำกัด
- รถไฟเอกชน : เป็นรถไฟที่ให้บริการเป็นโซน ๆ มีชื่อบริษัทแตกต่างกันไป โดยจะให้บริการครอบคลุมเพียงแค่เมืองใกล้เคียง
- รถไฟใต้ดิน : เป็นรถไฟที่วิ่งภายในเมืองนั้น ๆ มักเจอตามเมืองใหญ่ ๆ เช่น โตเกียว โอซาก้า ซัปโปโร่ นาโกย่า เซนได
ทั้งนี้รถไฟเอกชนและใต้ดินบางสายก็อาจะใช้ขบวนเดียวกันในเส้นทางที่ต่อกัน พอถึงพื้นที่ที่ให้บริการก็อาจเปลี่ยนเพียงชื่อสาย เราจึงสามารถนั่งยาวไปได้เลยโดยไม่ต้องลงรถไฟมาเปลี่ยนขบวนค่ะ
• รถไฟมีหลายความเร็ว
รถไฟที่ญี่ปุ่นนั้นมีระดับความเร็วหลายแบบ โดยอาจจะมีชื่อเรียกต่างกันตามบริษัทผู้ให้บริการดังต่อไปนี้
- Local : รถไฟท้องถิ่น (จอดทุกสถานี)
- Semi-Express : รถกึ่งด่วน (จอดบางสถานี)
- Rapid : รถเร็ว (จอดน้อยกว่าขบวน Semi-Express)
- Express : รถด่วน (จอดน้อยกว่าขบวน Rapid)
- Limited Express : รถด่วนพิเศษ (จอดเฉพาะสถานีสำคัญ ถึงเร็วที่สุดในบรรดารถไฟทั่วไป)
- Shinkansen : ชินคันเซ็น (รถไฟความเร็วสูง, รถไฟหัวกระสุน)
แนะนำว่าการเดินทางระหว่างชานเมืองหรือไปยังเมืองอื่น ๆ ควรตรวจสอบตารางรถไฟของขบวนนั้น ๆ ว่าจอดที่สถานีใดบ้าง เพราะรถไฟที่เร็ว ๆ นั้นจะจอดเพียงบางสถานีนะคะ
• ใช้แบงค์หมื่นเยนซื้อตั๋วได้ที่ตู้
หากเพื่อน ๆ แลกเงินมาเป็นแบงค์หมื่นเยน ก็สามารถเอามาใช้ซื้อตั๋วรถไฟที่ตู้ขายตั๋วในสถานีได้เลยนะคะ เรียกได้ว่าเป็นที่แตกแบงค์อย่างดีเลยค่ะ โดยเครื่องจะทอนมาเป็นแบงค์พัน และเหรียญให้ได้ค่ะ ไม่ต้องกลัวว่าจะมาแต่เหรียญให้หิ้วกันจนกระเป๋าตุง (ไม่ต้องไปต่อคิวแลกเหรียญและต้องมาต่อคิวหยอดตู้เพื่อซื้อตั๋วด้วย หุหุ)
• มีบัตรเติมเงินและตั๋ววันที่สามารถกดซื้อได้เองที่ตู้
ถ้าเพื่อน ๆ จะซื้อบัตรเติมเงิน (IC Card) เราสามารถกดซื้อและเติมเงินเพิ่มเองได้ที่ตู้ขายตั๋วในสถานีได้เลย สำหรับบัตรเติมเงิน เช่น Suica, Pasmo, Icoca สามารถชำระได้ทั้งรถไฟ รถบัส ร้านค้าต่าง ๆ (สังเกตสัญลักษณ์เวลาชำระเงิน ว่าเครื่องรองรับบัตรใดได้บ้าง) โดยใช้ร่วมกันได้ทั่วประเทศ ความต่างอยู่ที่บริษัทผู้ออกบัตรและเวลาคืนบัตรเพื่อเอาค่ามัดจำ โดยเราต้องคืนกับศูนย์ของบริษัทผู้ออกบัตรนั้น เช่น Suica ซึ่งออกโดย JR East เวลาคืนบัตร ก็ต้องคืนกับศูนย์ JR East เป็นต้น ทั้งนี้ คนที่คิดว่าจะมาเที่ยวหลาย ๆ รอบ ก็สามารถเก็บบัตรไว้ใช้รอบต่อ ๆ ไปได้นะคะ เพราะบัตรมีอายุถึง 10 ปี เลยทีเดียว
• มีตั๋ววันที่สามารถกดซื้อได้เองที่ตู้
ตั๋ววัน (One Day Pass) เป็นบัตรเหมาจ่าย สามารถขึ้นรถไฟได้ไม่จำกัดเที่ยวใน 1 วัน (หรือนับเป็น 24 ชั่วโมงแล้วแต่เงื่อนไขของตั๋ว) เราสามารถซื้อตั๋ววันได้เองที่ตู้ขายตั๋วในสถานีเลยค่ะ โดยไม่ต้องไปติดต่อซื้อกับเจ้าหน้าที่ นอกจากในกรณีที่เป็นตั๋วพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (ราคาจะประหยัดกว่าตั๋ววันปกติ) อย่างตั๋ว Tokyo Subway Ticket ที่ใช้กับรถไฟใต้ดินในโตเกียว จะต้องซื้อกับออฟฟิศในสถานี เคาท์เตอร์ของบริษัทรถไฟในสนามบิน หรือตามสถานที่อื่นๆ ที่จำหน่ายค่ะ
• ดูให้ดีเวลาเข้าแถวรอขึ้นรถไฟ
ตามชานชาลาส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นจะมีเส้นไว้สำหรับเข้าแถวรอขึ้นรถไฟ บางที่ยังมีแบ่งอีกด้วยว่าสำหรับขึ้นขบวนไหน เพราะชานชาลาเดียวกัน อาจมีรถไฟมาจอดหลายขบวนค่ะ รวมถึงยังมีบอกด้วยว่าเป็นตู้รถไฟที่เท่าไหร่ เป็นตู้แบบจองหรือไม่จองที่นั่ง ตอนใกล้รถไฟมาก็จะมีประกาศรวมถึงป้ายไฟวิ่งบอกว่าเป็นขบวนอะไร มีกี่ตู้ ให้สังเกตให้ดี จะได้ไม่ขึ้นผิดขบวนหรือไปยืนรอเก้อนะคะ ถ้าตั๋วรถไฟเป็นแบบจองที่นั่งก็จะมีการระบุหมายเลขตู้เอาไว้ด้วย เราสามารถไปยืนรอตรงหมายเลขตู้ได้ค่ะ นอกจากนี้ สำหรับรถไฟในเมืองในช่วงเวลาเร่งด่วนก็จะมีตู้สำหรับผู้หญิง (Women Only) ด้วยค่ะ อาจจะอยู่ตู้แรกหรือตู้สุดท้ายของขบวนก็ได้ หนุ่ม ๆ ต้องดูให้ดีด้วยนะคะ
• ยืนให้ถูกทิศถูกทาง
ในช่วงที่บนรถไฟมีคนแน่นมาก ๆ อัดกันเป็นปลากระป๋อง พอเดินเข้าไปรถไฟแล้ว ก็จะต้องกลับหลังหันอย่างอัตโนมัติ โดยหันหน้าออกไปทางประตูค่ะ ถ้าเราหันหน้าเข้าหาคนอื่น เวลาโดนดันเข้ามา ระวังกระเด้งไปจุ๊บคนตรงข้ามนะคะ (ถ้าเป็นหนุ่มหล่อหรือสาวสวยนี่โอเคชิมิ 555)
• ไม่คุยโทรศัพท์บนรถไฟ และปิดเสียงโทรศัพท์
เวลาขึ้นรถไฟหรือรถบัสในญี่ปุ่น ไม่ควรคุยโทรศัพท์นะคะ เพราะเป็นการเสียมารยาทและรบกวนผู้อื่นด้วย (ก็มีคนที่คุยเหมือนกัน แต่อาจจะทำลับ ๆ ล่อ ๆ หน่อย หุหุ) รวมถึงต้องปิดเสียงโทรศัพท์และเสียงเตือนต่าง ๆ ให้ใช้ได้แค่ระบบสั่นค่ะ ถ้าจะฟังเพลงก็อย่าเปิดเสียงดังจนทะลุออกมานอกหูฟังให้คนอื่นได้แดนซ์กันด้วยนะคะ อีกทั้งบนรถไฟที่โน่นก็ไม่มีจอโฆษณาพร้อมเสียงอันทรงพลังแบบบ้านเรา ถ้าขบวนไหนที่แน่น ๆ นี่ก็จะเจอแต่ความเงียบ แต่ถ้าช่วงที่โล่ง ๆ ก็อาจได้ยินเสียงเม้าท์มอยกันเองบ้างระหว่างผู้โดยสาร (ดังบ้าง เบาบ้าง แล้วแต่ความเฮฮา 555)
• ไม่ลุกให้เด็กและคนชรานั่งก็ได้
อย่าเพิ่งคิดว่าคนญี่ปุ่นเขาใจร้ายกันนะคะ เพราะว่าตามตู้รถไฟจะมีที่นั่ง Priority Seat สำหรับเด็กและคนชรา คนท้อง รวมถึงคนป่วยอยู่ค่ะ โดยมักอยู่โซนริม ๆ ตู้ และเบาะนั่งก็จะมีสีแตกต่างจากเบาะทั่วไป คนทั่วไปก็จะไม่ค่อยนั่งในโซนนั้นกันเท่าไหร่ บางครั้งถ้าเรานั่งในโซนปกติแล้วลุกให้เด็กหรือคนชรานั่ง เขาก็จะไม่นั่งกันด้วยค่ะ อาจด้วยความเกรงใจหรือไม่ก็ไม่อยากรับความช่วยเหลือจากผู้อื่นให้เป็นบุญคุณกัน (โอ้ววว)
• ทานอาหารในรถไฟและบริเวณชานชาลาได้
โดยทั่วไปแล้วตามรถไฟระหว่างเมือง เราสามารถซื้อข้าวกล่องหรืออาหารอื่น ๆ ขึ้นมานั่งทานได้สบาย ๆ และยังมีร้านขายอาหารหรือตู้อัตโนมัติตั้งอยู่บนชานชาลาเลย ทั้งนี้เราควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นแรงเพราะจะไปรบกวนผู้โดยสารท่านอื่นนะคะ สำหรับรถไฟใต้ดินในเมืองก็ไม่ได้มีกฎห้ามทานอาหารบนรถไฟ แต่ก็ไม่เห็นมีคนเอาขึ้นมาทานกัน แต่บนชานชาลาบางแห่งก็มีร้านหรือตู้ขายอาหารอยู่ แนะนำว่าให้ทานให้เรียบร้อยแล้วค่อยขึ้นรถไฟจะดีกว่านะคะ
• มีฮีทเตอร์ใต้เบาะที่นั่ง
ในรถไฟที่ญี่ปุ่นจะมีฮีทเตอร์อยู่ใต้เบาะที่นั่งซึ่งจะเปิดใช้ในช่วงอากาศหนาว (บางทีก็อุ่นพอดี บางทีก็ร้อนก้นหน่อย ๆ หุหุ) คนไทยที่เคยชินกับการขึ้นรถไฟแอร์เย็นฉ่ำ (จนแทบแข็ง) อาจจะรู้สึกว่าอากาศในรถไฟมันร้อนไปด้วยซ้ำค่ะ แบบว่าใส่เสื้อกันหนาวมาจัดเต็มหลายชั้น พอขึ้นรถไฟนี่แทบอยากถอดออกให้หมด 555
• สถานีรถไฟมีทางออกเยอะมากกกกก
การหลงในสถานีรถไฟที่ญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างเรา ๆ เพราะคนญี่ปุ่นเองก็ยังมีหลงเหมือนกัน 555 อย่างสถานีชินจูกุกับสถานีโตเกียวนี่ทั้งใหญ่และงงสุดๆ เนื่องจากทางเดินในสถานีอาจจะลึกลับซ้อนและมีทางออกให้เลือกมากมาย การดูแผนที่ในสถานี รวมถึงตรวจเช็คทางออกที่ใกล้กับสถานที่ที่เราจะไปล่วงหน้า จะช่วยเราได้เยอะในการมองหาทางออกที่ถูกต้องนะคะ
ความแตกต่างระหว่างรถไฟในญี่ปุ่นและที่ไทยทั้ง 12 ข้อนี้ หวังว่าจะมีประโยชน์สำหรับคนที่จะไปเที่ยวญี่ปุ่นไม่มากก็น้อยนะคะ สายรถไฟที่นั่นอาจจะเยอะจนน่าเวียนหัว เวลาวางแผนเที่ยวจึงควรเช็คทั้งสถานีต้นทางและปลายทางว่าต้องขึ้นและลงที่ไหน รวมถึงควรขึ้นสายอะไรและเปลี่ยนสถานีที่ไหนด้วยค่ะ ที่สำคัญคือต้องไปรอขึ้นรถไฟให้ถูกฝั่งด้วยนะคะ ดูว่ารถไฟมุ่งหน้าไปทางไหนและมีสถานีที่เราจะไปอยู่ในเส้นทางนั้นหรือไม่ สังเกตไม่ยากค่ะ ตามเสาตรงชานชาลาหรือป้ายในสถานีก็จะมีแผนที่เส้นทางบอกไว้ค่ะ ท้ายนี้ก็ขอให้เดินทางท่องเที่ยวกันอย่างราบรื่นนะคะ
บทความน่ารู้
บทความแนะนำ
- 12 ความแตกต่างน่ารู้ก่อนไปญี่ปุ่น : รถไฟในญี่ปุ่น VS ไทย
- 6 ความแตกต่างน่ารู้ก่อนไปญี่ปุ่น : รถบัสประจำทางในญี่ปุ่น VS ไทย
- 5 ความแตกต่างน่ารู้ก่อนไปญี่ปุ่น : ห้องน้ำญี่ปุ่น VS ห้องน้ำไทย
- 12 ความแตกต่างน่ารู้ก่อนไปญี่ปุ่น : วัฒนธรรมและมารยาทการกินอาหารที่ญี่ปุ่น VS ไทย
- 8 ความแตกต่างน่ารู้ก่อนไปญี่ปุ่น : เครื่องดื่มที่ญี่ปุ่น VS ไทย