Home ไลฟ์สไตล์ ทำไมภาษาญี่ปุ่นถึงมีตัวหนังสือเยอะ?
ตัวอย่างตัวหนังสือภาษาญี่ปุ่น

ทำไมภาษาญี่ปุ่นถึงมีตัวหนังสือเยอะ?

by NorthTempest
5040 views

เชื่อว่าหลายคนต้องเคยเห็นภาษาญี่ปุ่นผ่าน ๆ ตากันมาแล้ว ทั้งจากการ์ตูน หรือการไปท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่น และหลายคนคงสงสัยกันบ้างแหละว่า ทำไมตัวหนังสือญี่ปุ่นมันเยอะจัง บางตัวก็เห็นบ่อย ๆ ซ้ำไปซ้ำมา บางตัวก็แทบจะไม่เคยเห็นเลยหรือบางประโยคก็นึกว่าเฮ้ยยย นี่มันภาษาจีนเรอะ (ʘᗩʘ’)

ประเภทของตัวหนังสือญี่ปุ่น

ขอวิชาการสักนิด ตัวหนังสือภาษาญี่ปุ่นนั้นแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1. ฮิรางานะ (ひらがな)

ฮิรางานะ คือ ตัวอักษรญี่ปุ่นที่ดัดแปลงมาจากตัวภาษาจีน (คันจิ) แต่ละตัวใช้แทนเสียงอ่าน 1 เสียง มีสระ 5 ตัว คือ อะ (あ) อิ (い) อุ (う) เอะ (え) โอะ (お) แล้วแบ่งพยัญชนะออกเป็นวรรคทั้งหมด 10 วรรค และมีตัวหนังสือทั้งหมด 46 ตัว นอกจากนี้ยังมีการใช้ เตนเตน ( ゛) เขียนไว้ด้านบนขวาของตัวอักษรอีก 4 วรรค และ มารุ(゜) 1 วรรค เพื่อให้ออกเสียงอื่นได้หลากหลายยิ่งขึ้น

2. คาตาคานะ (カタカナ)

คาตาคานะ คือ อักษรญี่ปุ่นที่คิดค้นขึ้นมาหลักจากฮิรางานะและดัดแปลงมาจากภาษาคันจิเช่นเดียวกัน ในช่วงแรกมีการใช้ปนกันแต่ในภายหลังถูกนำมาใช้แทนเสียงในภาษาต่างชาติหรือชื่อต่าง ๆ แทน มีการใช้ เตนเตน ( ゛) และ มารุ(゜)มีจำนวนตัวหนังสือและการออกเสียงเหมือนฮิรางานะ

3. คันจิ (漢字)

คันจิ คือ ตัวหนังสือภาษาจีนที่ญี่ปุ่นหยิบยืมนำมาใช้ โดยเอามาใช้แทนคำหรือความหมายหนึ่ง ๆ เลยเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะเสียงของภาษาญี่ปุ่นมีจำกัดแต่ 83 เสียง (รวมเสียงกร่อนและเตนเตนกับมารุ) ดังนั้นจึงเกิดคำซ้ำมากมาย ทั้งพ้องรูปและพ้องเสียงอีกทั้งเมื่อเขียนฮิรางานะต่อ ๆ กันเป็นประโยคยาว ๆ เราจะตัดคำไม่ถูกว่าเริ่มและจบตรงไหน ทำให้เกิดความสับสนในการใช้ภาษาได้ คันจิจึงเป็นพระเอกขี่ม้าขาวกุบกับ ๆ เข้ามาช่วยให้คนเข้าใจกันว่าคำที่เขียนอยู่นี่หมายถึงอะไร ตัวอย่างเช่น

きょうはてんきがいいですね。さんぽしましょう。

今日天気がいいですね。散歩しましょう。

สำหรับคนที่อ่านภาษาญี่ปุ่นออกจะเห็นว่าแบบล่างอ่านง่ายกว่าเยอะเพราะเรารู้ว่าคำไหนเริ่มตรงไหน ตัวไหนคือคำช่วย ส่วนคนที่อ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออก ก็น่าจะรู้สึกว่าแถวล่างมันดูไม่ยาว และดูเป็นคำมากกว่าแถวบนที่ดูเยอะพรืด ๆ ใช่ไหมครับ ? ต้องใช่สิ เชื่อผม ผมเรียนมา 555  ╮(╯∀╰)╭    นอกจากนี้ตัวคันจิ 1 ตัวยังออกเสียงได้ถึง 2 แบบ คือ อนโยมิ (音読み) เสียงอ่านแบบจีนและ คุนโยมิ (訓読み) เสียงอ่านแบบญี่ปุ่นได้อีกด้วย ซึ่งก็ยังแยกย่อยลงมาอีกว่าเสียงอนโยมิกี่เสียง คุนโยมิอีกกี่เสียง (⊙_◎) เรียกได้ว่าคันจิเป็นตัวหนังสือญี่ปุ่นที่มีความซับซ้อนที่สุดแล้วทั้งในการเขียนและการออกเสียง

ด้วยเหตุนี้ภาษาญี่ปุ่นจึงมีตัวหนังสือเยอะมากกกกก แม้จะไม่เท่าภาษาจีน แต่ก็จัดว่าไม่น้อยหน้ากัน เพราะการที่จะเข้าใจภาษาญี่ปุ่นในชีวิตประจำวันได้ทั้งหมดต้องรู้ตัวคันจิราว ๆ 2000 คำเลยทีเดียว ภาษาญี่ปุ่นจึงจัดว่าเป็นหนึ่งในภาษาที่เรียนยากเพราะนอกจากไวยกรณ์ที่ซับซ้อนแล้วยังมีตัวหนังสือเยอะแยะมากมายอีกด้วย ดังนั้นการเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยวิธีที่ดีที่สุดคือการทำตัวเป็นคนญี่ปุ่น นั่นคือเราต้องใช้ภาษาญี่ปุ่นบ่อย ๆ เห็นผ่านตาบ่อย ๆ เขียนบ่อย ๆ ก็จะสามารถจำได้เองโดยธรรมชาติของการจดจำและการใช้ภาษาของมนุษย์ สุดท้ายเพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้นขอยกตัวอย่างประโยคที่มี ฮิรางานะ คาตาคานะและคันจิในประโยคเดียวกันครับ

あの、外国人を見て!、クリス・ヘムズワースじゃないの?!!

แปลว่า “ดูฝรั่งคนนั้นสิ ! คริส เฮมส์เวิร์ดไม่ใช่เรอะ?!!”

บทความที่เกี่ยวข้อง