Home ไลฟ์สไตล์ 30 คำศัพท์น่ารู้ เกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นและประเพณีดั้งเดิมของประเทศญี่ปุ่น
วัฒนธรรมญี่ปุ่น

30 คำศัพท์น่ารู้ เกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นและประเพณีดั้งเดิมของประเทศญี่ปุ่น

by Japan Check-in!
14054 views

นอกจากอาหารญี่ปุ่นแล้ว วัฒนธรรมญี่ปุ่นก็เป็นสิ่งที่คนทั่วโลกรู้จักกันเป็นอย่างดี คงเป็นเรื่องยากมากที่จะปฏิเสธว่าเราไม่รู้จักคำศัพท์จากภาษาญี่ปุ่นเลยสักคำ เพราะตั้งแต่เด็ก การ์ตูนส่วนใหญ่ที่เราดูก็คือการ์ตูนญี่ปุ่น ไปจนถึงเกมและภาพยนตร์ต่าง ๆ ก็มีไม่น้อยที่มาจากญี่ปุ่น บางคนที่มีโอกาสได้ไปเที่ยวญี่ปุ่น ก็ยังได้สัมผัสวัฒนธรรมจริง ๆ มาอีกด้วย

คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างเช่น ชื่อสิ่งของ หรือประเพณีต่าง ๆ จึงค่อนข้างจะคุ้นหูคนไทยอย่างมาก ดังนั้นเราจึงหยิบยกคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นน่ารู้ ทั้งคำที่อาจจะเคยและไม่เคยได้ยินมาก่อน มาเล่าว่าคำนั้นคืออะไร ใช้งานอย่างไร เพื่อให้เข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นและประเพณีดั้งเดิมของประเทศญี่ปุ่นมากขึ้นค่ะ

30 คำศัพท์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น

กิโมโน (Kimono)

• กิโมโน (Kimono / 着物)

คำนี้คาดว่าคงรู้จักกันดีเกือบทุกคน เพราะนอกจากเราจะเคยเห็นกิโมโนผ่านสื่อต่าง ๆ แล้ว กิโมโนยังเป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติของญี่ปุ่น มีประวัติยาวนานตั้งแต่ยุคสมัยเฮอัน (ช่วง ค.ศ. 794 – 1192) กิโมโน ถ้าแปลตรงตัว แปลว่า “เสื้อผ้า” เป็นชุดที่สวมใส่ได้ทั้งชายและหญิง ประกอบด้วยเสื้อนางางิ (Nagagi) เป็นชุดคลุมขนาดยาว แขนกว้างมาก ชายเสื้อเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และโอบิ (Obi) ผ้าไหมทอลายพันเอวเพื่อให้ชุดคลุมอยู่คงที่ โอบิถือเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่ง เวลาสวมต้องมีผู้ช่วยคอยดึงให้แน่นกระชับกับลำตัว เป็นส่วนที่ทำให้ชุดกิโมโนยิ่งหนัก ส่วนถุงเท้าและรองเท้าที่ใส่กับชุดกิโมโน คือ ทาบิ (Tabi) ถุงเท้าที่มีแยกนิ้วโป้งเท้าและ เกตะ (Geta) รองเท้าไม้ยกสูงแบบญี่ปุ่น

ชุดกิโมโนทั้งชายและหญิงจะช่วยอำพรางสัดส่วนของผู้สวมใส่ ชุดกิโมโนของหญิงโสดจะเป็นกิโมโนแขนยาว มีลวดลายสีสันสดใส เรียกว่า ฟุริโซเดะ (Furisode) ส่วนชุดกิโมโนที่มีสีเรียบและแขนเสื้อสั้นกว่า เรียกว่า อิโระ โทเมะโซเดะ (Iro-Tomesode) ซึ่งแต่ก่อนเป็นชุดสำหรับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว แต่ปัจจุบันผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานก็ใส่ได้

สำหรับ ในปัจจุบัน ชาวญี่ปุ่นแต่งชุดสากลกันในชีวิตประจำวัน แต่ผู้ที่ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับศิลปะญี่ปุ่นโบราณก็ยังสวมใส่กิโมโนอยู่บ้าง ถ้าอยากเห็นชาวญี่ปุ่นสวมใส่กิโมโนกันเยอะ ๆ ต้องรอช่วงงานเทศกาลและพิธีการต่าง ๆ เพราะกิโมโนมักใช้สวมใส่ในโอกาสพิเศษและเป็นทางการ เช่น งานแต่งงาน งานปีใหม่ งานฉลองบรรลุนิติภาวะ เป็นต้นค่ะ

• ยูกาตะ (Yukata / 浴衣)

เชื่อว่ามีคนไม่น้อยที่สับสนระหว่าง ยูกาตะ (Yukata)” กับ กิโมโน (Kimono)” โดยยูกาตะเป็นชุดที่มีความเป็นทางการน้อยกว่ากิโมโน การสวมใส่จึงไม่ยุ่งยากและซับซ้อนเท่า เช่น ไม่จำเป็นต้องใส่ซับในแบบกิโมโน และไม่ต้องสวมคู่กับเกตะก็ได้ ชุดยูกาตะส่วนใหญ่ผลิตจากผ้าฝ้าย สวมใส่สบายและระบายความร้อนได้ดี จึงนิยมใส่ในฤดูร้อน รวมถึงใส่ไปเที่ยวงานเทศกาลฤดูร้อนอีกด้วย

อาจมีบ้างที่สวมใส่ในช่วงฤดูหนาว แต่ก็เฉพาะในเรียวกัง (Ryokan) หรือที่พักสไตล์ญี่ปุ่นที่เตรียมไว้ให้ใส่ไปแช่ออนเซนเท่านั้น ไม่นิยมใส่ออกมาเดินข้างนอกเพราะความบางของชุดไม่สามารถกันหนาวได้ค่ะ ส่วนสีสันของชุดยูกาตะมักมีสีสันสดใส เพราะเป็นชุดสำหรับใส่ลำลอง และเรามักพบเห็นว่าผู้หญิงใส่ชุดยูกาตะมากกว่าผู้ชาย

• โชกุน (Shogun / 将軍)

หลายคนคงรู้จักคำว่า โชกุน (Shogun)” มาจากการ์ตูนหรือภาพยนตร์ของญี่ปุ่น เพราะเป็นชื่อตำแหน่งสำคัญในช่วงยุคโบราณตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1185 – 1868 โชกุนมีความหมายว่า จอมทัพ ซึ่งตรงกับบทบาทการเป็นผู้ใช้อำนาจเผด็จการทหาร อย่างไรก็ตาม โชกุนเป็นประมุขในทางพฤตินัย ผู้ที่เป็นประมุขในทางนิตินัยคือ จักรพรรดิญี่ปุ่น (Tenno)” ที่แต่งตั้งโชกุนขึ้นมาอีกที

ตำแหน่งโชกุนใช้วิธีการสืบทอดตามสายเลือด โดยเป็นญาติหรือผู้สืบเชื้อสายจากสมเด็จพระจักรพรรดิ โดยปกติ หากจักรพรรดิมีอำนาจเข้มแข็งและทรงพระปรีชาสามารถแล้ว จะสามารถกุมอำนาจทั้งการบริหารแผ่นดินและกองทัพเอาไว้ได้ แต่หากเป็นยุคสมัยที่ราชสำนักอ่อนแอ โชกุนจะก้าวขึ้นมามีอำนาจเหนือจักรพรรดิ เหมือนกับที่เราอาจเคยเห็นในการ์ตูนหรือภาพยนตร์ของญี่ปุ่นนั่นเองค่ะ

ซามูไร (Samurai)

• ซามูไร (Samurai / 侍)

ซามูไร คือ นักรบในยุคโบราณของญี่ปุ่น หรือจะเรียกว่าทหารก็ไม่ผิดนัก ว่ากันว่ามีมาตั้งแต่สมัยเฮอัน (ค.ศ. 794 – 1185) คำว่า “ซามูไร (Samurai) มีรากศัพท์มาจากคำว่า ซะบุระอุ (Saburau)” แปลว่า รับใช้ ดังนั้นหลัก “บูชิโด (Bushido)” หรือวิถีแห่งนักรบที่ซามูไรยึดถือ ก็ คือการจงรักภักดีต่อนายเพียงผู้เดียว มีคุณธรรม และเคารพในธรรมชาติ

แต่เดิมซามูไรเป็นนักรบว่าจ้าง คอยดูแลและปกป้องตระกูลที่มีเงินและอำนาจ ต่อมาซามูไรเริ่มมีบทบาทในสังคมมากขึ้นเพราะเกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างตระกูลใหญ่ ตระกูลมินาโมโตะ (Minamoto) ที่ชนะและยึดอำนาจจากจักรพรรดิ ตั้งตนเป็นโชกุนได้สำเร็จ จึงทำให้ซามูไรภายใต้อำนาจของตระกูลมินาโมโตะมียศฐาบรรดาศักดิ์ รวมถึงมีบทบาทมากขึ้น เช่นคอยดูแลความเรียบร้อยของบ้านเมืองคล้ายตำรวจในยุคปัจจุบัน ก่อนที่จะค่อย ๆ ลดบทบาทลงเมื่อบ้านเมืองเข้าสู่ยุคสงบสุข และระบบศักดินาต่าง ๆ ได้หมดสิ้นลง ซามูไรจึงกลายเป็นเพียงนักรบโบราณที่เราเห็นได้ตามสื่อบันเทิงต่าง ๆ เท่านั้นค่ะ

• เกอิชา (Geisha / 芸者)

คำนี้เป็นอีกคำที่คนไทยเราได้ยินบ่อย แต่มักถูกเข้าใจผิด ขอบอกเลยค่ะว่า “เกอิชา (Geisha)” ไม่ใช่หญิงค้าบริการนะคะ แต่เป็นหญิงที่คอยปรนนิบัติรับใช้ให้ความบันเทิงใจแก่แขก ด้วยศิลปะการร่ายรำ เล่นดนตรี ขับร้อง โดยจะแต่งตัวในชุดกิโมโน แต่งหน้าขาว ปากแดง คำว่าเกอิชา แปลว่า “ผู้ที่มีศิลปะ” ตรงตามความหมายของอาชีพของเกอิชาเลยค่ะ

ก่อนที่จะมาเป็นเกอิชาได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะต้องได้รับการฝึกฝนอย่างหนักตั้งแต่ยังเด็ก โดยสำนักเกอิชาจะซื้อตัวเด็กหญิงจากครอบครัวที่ยากจนมาเลี้ยงดูและฝึกฝน ในช่วงแรกจะทำงานบ้านทั่วไปและรับใช้เกอิชารุ่นพี่ เมื่อโตขึ้นจึงได้เรียนศิลปะแขนงต่าง ๆ เพื่อสร้างความบันเทิงแก่ลูกค้า เช่น การเล่นเครื่องดนตรีญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ “ชามิเซ็น (Shamisen)”การขับร้องและร่ายรำ จากนั้นจึงเรียนรู้สิ่งที่ยากมากขึ้น เช่น วิธีการใส่กิโมโน การพนัน การสนทนากับลูกค้า เป็นต้น

ไมโกะ (Maiko)

• ไมโกะ (Maiko / 舞妓)

ไมโกะ (Maiko)” อาจไม่เป็นที่คุ้นหูเท่า เกอิชา (Geisha)” ความจริงแล้วไมโกะก็คือ เด็กที่อยู่ระหว่างการฝึกฝนเพื่อเป็นเกอิชานั่นเองค่ะ ส่วนใหญ่เป็นหญิงสาวที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องฝึกฝนอยู่ 5 ปีจึงจะได้เลื่อนขั้นเป็นเกอิชา ไมโกะสามารถบริการแขกได้เช่นกัน แต่สามารถทำได้เพียงร่ายรำเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ยังถือว่าอยู่ในขั้นฝึกฝน ตรงตามความหมายของคำว่า ไมโกะ ที่แปลว่า เด็กน้อยเต้นรำ เลยค่ะ

การแต่งตัวของไมโกะ ในด้านทรงผม ไมโกจะใช้เครื่องประดับและปิ่นปักผมที่โดดเด่นกว่าเกอิชา ไม่ทาแก้มแดงมาก และทาปากแดงแค่ริมฝีปากด้านล่าง ส่วนรองเท้าจะใส่ส้นตึกสูงที่เดินได้ค่อนข้างยาก คนทั่วไปสามารถพบเห็นไมโกะและเกอิชาตัวจริงได้ที่ย่านกิออน (Gion) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อในเมืองเกียวโต (Kyoto) ค่ะ

• ซูโม่ (Sumo / 相撲)

“ซูโม่ (Sumo) คือ “มวยปล้ำ” ของญี่ปุ่น เป็นกีฬาประจำชาติที่มีความเก่าแก่ และมีประเพณีที่ยึดถือสืบทอดมาถึงปัจจุบัน เช่น ก่อนเริ่มเล่นกีฬาจะทำพิธีกรรมโปรยเกลือบนพื้นวงกลมซึ่งเป็นลานประลอง เพื่อเป็นเครื่องหมายของความบริสุทธิ์ เนื่องจากซูโม่เป็นกีฬาที่มีเกียรติ แต่เดิมวังหลวงในเกียวโตได้คัดเลือกนักรบจากกองทัพที่มีรูปร่างสมบูรณ์ใหญ่โตมาสู้กันเพื่อเป็นความบันเทิงแก่ชาววัง ก่อนจะพัฒนาจนกลายมาเป็นกีฬาอาชีพในปัจจุบัน

นักกีฬาซูโม่ต้องมีรูปร่างอ้วนใหญ่ น้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 75 กิโลกรัม ใช้ชีวิตตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดโดยสมาคมซูโม่อย่างเคร่งครัด ตั้งแต่อาหารการกินไปถึงการแต่งกาย การเล่นกีฬาซูโม่คือการผลักอีกฝ่ายให้ล้ม หรือดันคู่ต่อสู้ให้ออกจากวงกลมขนาดเล็ก นักกีฬาซูโม่ที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้พิชิตอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือผู้ที่ก้าวไปถึงตำแหน่ง “โยโกสุนะ (Yokozuna)” ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดนั่นเองค่ะ

ฮานามิ (Hanami)

• ฮานามิ (Hanami / 花見)

“ฮานามิ (Hanami) ในที่นี้ไม่ใช่ยี่ห้อขนมกรุบกรอบนะคะ แต่คือ “การชมดอกไม้” ของประเทศญี่ปุ่น คำว่า “ฮานามิ” แยกเป็น “ฮานะ” ที่แปลว่า “ดอกไม้” กับคำว่า “มิ” ที่แปลว่าดู จึงหมายถึง “การดูดอกไม้” ตรงตัวเลยค่ะ ซึ่งดอกไม้ที่นิยมก็คือ ดอกซากุระ ประเพณีนี้มีมากว่าพันปีแล้ว จะถูกจัดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิของทุกปี ประมาณช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน โดยดอกซากุระจะบานสะพรั่งอยู่ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ทำให้สวนสาธารณะส่วนใหญ่เต็มไปด้วยสีชมพูของซากุระดูงดงามมาก

ชาวญี่ปุ่นนิยมออกไปชมดอกซากุระตามสวนสาธารณะพร้อมกับอุปกรณ์ปิคนิค เพื่อนั่งชมดอกไม้และสังสรรค์กับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงใต้ต้นซากุระ ซึ่งกิจกรรมนี้ก็ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยเลย เรียกได้ว่าถ้าไปเที่ยวญี่ปุ่นช่วงฤดูใบไม้ผลิ ก็ต้องไปชมดอกไม้สักครั้งหนึ่งค่ะ

อ่านเพิ่มเติม ⇒ ฮานามิ (Hanami) ประเพณีชมดอกซากุระบานในช่วงฤดูใบไม้ผลิของญี่ปุ่น

• ฮานาบิ (Hanabi / 花火)

“ฮานาบิ (Hanabi) แยกแปลตามตัวคือ “ฮานะ” แปลว่า “ดอกไม้” และ “บิ” แปลว่า “ไฟ” รวมกันแล้วคือ “ดอกไม้ไฟ” ซึ่งที่ญี่ปุ่นนั้นจะมีเทศกาลดอกไม้ไฟนั่นเอง ซึ่งถือเป็นเทศกาลเอกของฤดูร้อนเลยค่ะ เพราะร้านรวงต่างๆ จะเริ่มออกขายชุดยูกาตะสำหรับใส่ไปงานเทศกาลดอกไม้ไฟตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยสถานที่เข้าชมดอกไม้ไฟแต่ละที่จะมีผู้คนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก เช่น บริเวณใกล้แม่น้ำสุมิดะ (Sumida) ในโตเกียว มีผู้ร่วมงานกว่า 1 ล้านคน โดยงานที่มีขนาดใหญ่นั้น สามารถจุดดอกไม้ไฟได้ราว 20,000 ชุดในหนึ่งชั่วโมง เรียกว่าสุดตระการตาเลยทีเดียวค่ะ

• อิเคบานะ (Ikebana / 生け花)

อิเคบานะ (Ikebana)” คือศาสตร์แห่งการจัดดอกไม้ของญี่ปุ่น แยกแปลตามคำคือ “อิเค” แปลว่า “มีชีวิต” และ “บานะ” แปลว่า “ดอกไม้” โดยศาสตร์การจัดดอกไม้มีต้นกำเนิดจากในวัดทางพระพุทธศาสนา คือการจัดดอกไม้ถวายพระ ก่อนจะพัฒนาให้ใช้งานได้หลายโอกาส การจัดดอกไม้ของญี่ปุ่น จะเน้นความเรียบง่าย สะท้อนความงามจากธรรมชาติ เหมือนวิถีของชาวญี่ปุ่นสมัยโบราณ ซึ่งทำให้หลายคนกล่าวว่า การจัดดอกไม้ญี่ปุ่นนั้นดูเหมือนการไม่จัด แต่ก็งดงาม และทำให้รู้สึกผ่อนคลายค่ะ

อุคิโยะเอะ (Ukiyo-e)

• อุคิโยะเอะ (Ukiyo-e / 浮世絵)

“อุคิโยะเอะ (Ukiyo-e)คือ ภาพพิมพ์บนกระดาษญี่ปุ่นหรือผ้า วิธีทำเริ่มจากการวาดภาพลงบนแผ่นไม้โดยช่างวาด จากนั้นช่างแกะสลักจะแกะสลักแล้วทาหมึกไปตามแผ่นไม้ สุดท้ายช่างพิมพ์จะนำกระดาษญี่ปุ่นหรือผ้าย้อมสีมาทาบบนหมึกทำให้เกิดเป็นรูปภาพ กระบวนการพิมพ์แบบนี้ถูกคิดขึ้นเมื่อราวศตวรรษที่ 17 ซึ่งภาพอุคิโยะเอะที่โด่งดังคือภาพภูเขาฟูจิและคลื่นยักษ์ และภาพนักแสดงคาบูกิ ภาพอุคิโยะเอะมักแฝงอารมณ์ขัน ลายเส้นและสีสันดูเกินจริง แต่ก็เป็นความสวยงามและมีเสน่ห์อย่างหนึ่ง

ในอดีต คนญี่ปุ่นนิยมนำภาพอุคิโยะเอะมาแขวนประดับบ้าน เพราะภาพวาดมีหลากหลาย ตั้งแต่ทิวทัศน์ในชีวิตประจำวัน การแสดงหรือนิยายพื้นบ้าน ภาพหญิงสาว นายทหาร และต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งปัจจุบันอุคิโยะเอะกลายเป็นของฝากยอดนิยมอย่างหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนญี่ปุ่นค่ะ

• คาบูกิ (Kabuki / 歌舞伎)

คาบูกิ (Kabuki)” คือ ละครรูปแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น สืบทอดมายาวนานตั้งแต่สมัยเอโดะ ละครคาบูกิใช้นักแสดงชายล้วน มีการแต่งหน้าและการสวมวิกที่โดดเด่นแปลกตา ส่วนการแสดงอารมณ์ต่าง ๆ นั้นแสดงอย่างเกินจริงแต่สื่อสารได้ชัดเจน เช่น ร้องไห้ เสียใจ โกรธ เนื้อเรื่องของคาบูกิแบ่งได้ 2 ประเภท คือ เรื่องเกี่ยวกับสังคมซามูไร และเรื่องราวของชีวิตชาวเมือง

ปัจจุบัน เราสามารถหาชมคาบูกิได้ตามโรงละครบางแห่งซึ่งมีที่นั่งในสไตล์ตะวันตก ซึ่งขอแนะนำว่าควรจะลองหาดูสักครั้งนะคะ เพราะคาบูกินอกจากจะเป็นละครแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นแล้ว ยังได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้โดย UNESCO อีกด้วย

โน (Noh)

• โน (Noh / 能)

“ละครโน (Noh)” เป็นอีกหนึ่งรูปแบบละครดั้งเดิมของญี่ปุ่น มีต้นกำเนิดมาจากเพลงสวดและการร่ายรำบูชาเทพเจ้าในสมัยมุโรมะจิ (ค.ศ. 1336 – 1573) นักแสดงจะสวมหน้ากากและแต่งกายในชุดญี่ปุ่นโบราณ จุดเด่นของละครโนคือ นักแสดงจะร้องเพลงและร่ายรำประกอบดนตรีไปด้วย บทร้องในละครโนจะถูกเปล่งออกมาในระดับเสียงเดียวกัน คำพูดจะใช้สำนวนโวหารให้ผู้ชมต้องตีความ อีกทั้งท่วงท่าการร่ายรำที่เชื่องช้า ทำให้ละครโนมีความเรียบง่าย แต่สง่างามและทรงพลัง

ละครโนเป็นละครเก่าแก่ที่ได้รับการอนุรักษ์สืบทอดมายาวนาน จึงเป็นหนึ่งในสามละครคลาสสิกของญี่ปุ่น ทั้งนี้ยังได้รับการประกาศจาก UNESCO ว่าเป็นสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของประเทศญี่ปุ่น และได้รับการจดทะเบียนขึ้นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอีกด้วย

• โกะโตะ (Koto / 箏)

บางคนอาจจะรู้จัก “โกะโตะ (Koto)” ในฐานะ “พิณญี่ปุ่น” โกะโตะคือเครื่องสายโบราณของประเทศญี่ปุ่น มี 13 สาย วิธีเล่นคือใช้นิ้วมือขวา 3 นิ้วดีด ตัวเครื่องสายมีความยาวประมาณ 180 เซนติเมตร ทำจากไม้เพาโลเนีย ลักษณะคล้ายเครื่องดนตรีจะเข้ นอกจากนี้ยังดูเหมือนมังกร ทำให้ส่วนประกอบต่าง ๆ ของโกะโตะมีชื่อเรียกตามอวัยวะต่างๆ ของมังกรด้วย โกะโตะมีคุณสมบัติของเสียงที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ จึงทำให้เป็นเครื่องดนตรีที่มีความประณีตทางศิลปะและวัฒนธรรม

โกะโตะเป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่และมีประวัติยาวนานกว่าเครื่องสายอย่างชามิเซ็นเสียอีกค่ะ จึงนิยมร่ำเรียนกันไม่ต่างกับพิธีชงชาและจัดดอกไม้ ปัจจุบัน มีการสอนเล่นโกะโตะภายในกิจกรรมชมรมของมหาวิทยาลัย และถูกนำไปประยุกต์ดัดแปลงให้เข้ากับดนตรีสมัยใหม่มากขึ้น

• ชามิเซ็น (Shamisen / 三味線)

“ชามิเซ็น (Shamisen)คือ เครื่องดนตรีโบราณของญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เป็นเครื่องสาย 3 สายที่เหมาะสำหรับการเล่นดนตรีประกอบการแสดงโบราณหลายอย่าง เช่น ละครโน (Noh) ทั้งยังเป็นเครื่องดนตรีที่เกอิชา (Geisha) นิยมบรรเลงให้แขกฟังด้วยค่ะ เพราะสามารถผลิตเสียงดนตรีในระดับต่าง ๆ กันได้ไพเราะ

การเล่นชามิเซ็นต้องใช้ บาฉิ (Bachi) ในการดีด เชื่อกันว่าชามิเซ็นมีที่มาจาก ซังเง็น (Sanxian) เครื่องดนตรีของจีน โดยเผยแพร่จากจีนมาในญี่ปุ่นผ่านอาณาจักรริวกิว หรือเกาะโอกินาวาในปัจจุบัน จากนั้นก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและเป็นเครื่องดนตรีที่โดดเด่นจนถึงปัจจุบัน

ไทโกะ (Taiko)

• ไทโกะ (Taiko / 太鼓)

ศัพท์คำนี้ หลายๆ คนอาจรู้จัก “ไทโกะ (Taiko)จากเกมตีกลองของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีทั้งรูปแบบเกมตู้ เกมบนเครื่องเล่นอย่างเพลย์สเตชั่นไปจนถึงสมาร์ทโฟน ซึ่งเกมนี้ก็มีที่มาจากกลองไทโกะ ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นตรงเป็นกลองขนาดใหญ่ เวลาตีกลองนี้จะตีกันเป็นทีมอย่างสามัคคี ทำให้เป็นดูทรงพลังอย่างมาก กลองไทโกะมีที่มาจากการตีกลองเพื่อประกอบกิจกรรมทางทหาร โดยตีกลองไทโกะเพื่อข่มขวัญให้คู่ต่อสู้กลัว ทั้งยังใช้ประกอบกิจกรรมทางศาสนา หรือพิธีในราชสำนัก และแต่เดิมการตีกลองไทโกะจะตีเดี่ยว ดังนั้นเวลาไปตามศาลเจ้าของญี่ปุ่นแล้วเจอกลองขนาดใหญ่ สันนิษฐานได้เลยค่ะว่าคือกลองไทโกะ

กลองไทโกะเป็นส่วนหนึ่งของงานเฉลิมฉลองฤดูร้อนมายาวนาน ทั้งนี้ยังมีการจัดงาน “เทศกาลตีกลองไทโกะญี่ปุ่นขอบคุณเทพเจ้า” ทุกวันที่ 5 และ 6 พฤศจิกายน ที่ถนนโอคาเงะโยโคะโจ (Okage Yokocho) เมืองอิเสะ โดยรวบรวมนักตีกลองมาจากทั่วประเทศมาตีกลองเพื่ออุทิศแด่เทพเจ้าแห่งจินงูและอธิษฐานขอพร เป็นเทศกาลที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากเพราะอยากมาชมความอลังการของการแสดงตีกลองไทโกะนั่นเองค่ะ

• ดารุมะ (Daruma / だるま)

“ดารุมะ (Daruma)” เป็นตุ๊กตาไม้ของญี่ปุ่น ลักษณะกลมไม่มีแขนขาคล้ายตุ๊กตาล้มลุก มีที่มาจากการสร้างขึ้นเพื่อเคารพ “ท่านดารุมะ” พระโพธิธรรม ผู้เป็นสังฆปริณายกองค์ที่ 28 หน้าของดารุมะจึงมีความคล้ายคลึงกับท่านพระโพธิธรรม มีหนวดเครา และส่วนมากถูกทาสีแดงเพราะท่านดารุมะมักสวมจีวรสีแดง และสมัยก่อนญี่ปุ่นเกิดโรคฝีดาษหรือโรคไข้ทรพิษระบาดครั้งใหญ่ จึงเกิดความเชื่อว่าหากทาสีตุ๊กตาดารุมะด้วยสีแดงคล้ายสีจีวรท่านดารุมะ ปีศาจร้ายและเทพเจ้าแห่งโรคฝีดาษจะหวาดกลัว เมื่อมอบดารุมะให้กับเด็ก ๆ ก็จะพ้นจากโรคภัยและเคราะห์ร้ายค่ะ

นอกจากนี้ ดารุมะยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการขอพร เชื่อกันว่า ถ้าทาหมึกสีดำบนตาข้างหนึ่งของดารุมะและขอพร เมื่อคำขอประสบผลสำเร็จ จึงมาทาเติมตาอีกข้างให้สมบูรณ์ ปัจจุบันหาซื้อดารุมะได้ทั่วไปตามร้านขายของที่ระลึก ซึ่งแต่ก่อนดารุมะหาซื้อได้ตามศาลเจ้าในช่วงปีใหม่เท่านั้น

มาเนกิ เนโกะ (Maneki Neko)

• มาเนกิ เนโกะ (Maneki Neko / 招き猫)

“มาเนกิ เนโกะ (Maneki Neko) ถ้าพูดศัพท์คำนี้หลายคนอาจจะนึกไม่ออกคืออะไร แต่ถ้าบอกว่าเป็น “ตุ๊กตาแมวกวัก” คงต้องร้องอ๋อแน่นอน เพราะมีให้เห็นไม่น้อยตามร้านค้าต่าง ๆ มีลักษณะเป็นรูปปั้นแมวสีขาว คล้ายคลึงกับ เจแปนนิสบ๊อบเทล (Japanese Bobtail) แมวพันธุ์พื้นเมืองของญี่ปุ่นที่ไม่มีหาง ขาข้างซ้ายถูกยกขึ้นเสมอหู อาจมีกลไกให้ขาซ้ายขยับกวักเรียกคนได้ด้วย ตามความเชื่อว่าจะช่วยให้มีแขกหรือลูกค้ามาหา นิยมใช้เป็นของนำโชคสำหรับการค้าขาย คล้าย ๆ นางกวักของไทยนั่นเองค่ะ

มาเนกิ เนโกะ มีตำนานหลากหลาย ตำนานที่ขึ้นชื่อมีตำนานเรื่องหญิงชราที่ยากจนจนไม่สามารถเลี้ยงแมวที่ตนรักได้ต้องนำไปปล่อย แมวจึงเข้าฝันและบอกนางให้ปั้นตุ๊กตารูปแมวจากดิน วันรุ่งขึ้นนางลองทำตามก็มีคนมาขอซื้อทุกตัว จนนางร่ำรวยและสามารถพาแมวที่ตนรักกลับมาเลี้ยงได้ อีกตำนานคือตำนานที่วัดเก่า ๆ เล็ก ๆ อย่างวัดโกโตคุจิ (Gotokuji Temple) ช่วงสมัยเอโดะ ซามูไรผู้มีชื่อเสียงได้หลบฝนใต้ต้นไม้ใกล้วัดโกโตคุจิตอนที่มีฝนฟ้าคะนอง เขาเห็นแมวของนักบวชนั่งอยู่และทำท่าเหมือนกวักมือเรียกจึงเดินเข้าไปหาที่วัด ทันใดนั้นต้นไม้ที่ตนหลบฝนเมื่อครู่ก็ถูกฟ้าผ่า ซามูไรจึงรู้สึกขอบคุณแมวที่ช่วยชีวิตและบริจาคเงินบูรณะวัดโกโตคุจิขึ้นมาใหม่อย่างสง่างาม

• ชินโต (Shinto / 神道)

“ชินโต (Shinto)เป็นศาสนาดั้งเดิมของญี่ปุ่น และเคยเป็นศาสนาประจำชาติ เป็นศาสนาที่ไม่มีศาสดา มีคำสอนให้เคารพบูชาธรรมชาติ เพราะชาวญี่ปุ่นนิยมบูชาเทพเจ้า ซึ่งเทพต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเทพที่มีอยู่ในธรรมชาติ ชินโตจึงสอนให้เคารพและเข้าใจธรรมชาติเพื่อเข้าถึงเทพเจ้าได้มากขึ้นนั่นเองค่ะ

ที่มาของศาสนาชินโต เกิดขึ้นจากการที่ญี่ปุ่นติดต่อกับจีน และได้รับพระพุทธศาสนาและศาสนาขงจื้อเข้ามาผสมกับความเชื่อดั้งเดิม จึงเรียกรวมว่าชิน – เต๋า หรือชินโต แต่เดิมชินโตมาจากประเพณีบูชาบรรพบุรุษ มีหลักใช้ชีวิตโดยยึดการนำทางของเทพเจ้า จึงให้ความสำคัญกับพิธีกรรมทางศาสนามาก เพราะเป็นวิธีที่จะทำให้ใกล้ชิดกับเทพเจ้าได้มากที่สุด

ศาสนาชินโตถูกยกเลิกจากการเป็นศาสนาประจำชาติภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และปัจจุบันเริ่มลดหายไปจากวัฒนธรรม แต่ที่ยังเห็นได้ก็คือ งานปีใหม่ญี่ปุ่นที่มีจัดขึ้นตามศาลเจ้าชินโต และโอมิคุจิหรือการเสี่ยงเซียมซีในศาลเจ้าชินโต

• เซน (Zen / )

“เซน (Zen)คือนิกายหนึ่งของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ได้รับการนับถือแพร่หลายในจีนและญี่ปุ่น และเป็นที่รู้จักดีทั่วโลกในฐานะปรัชญาในการดำรงชีวิต ซึ่งแสดงถึงแนวทางการใช้ชีวิตการทำงาน และศิลปะ ยึดถือหลักปฏิบัติธรรมตามหลักของพระพุทธเจ้า ตามหลักการฝึกสติ อริยสัจ 4 และ มรรค 8 เซนไม่ยึดติดกับพิธีกรรม วิธีการฝึกตนของเซนเน้นที่การนั่งสมาธิ เพื่อให้เกิดพุทธิปัญญาและเข้าใจหลักธรรมด้วยตนเอง

เซนมีต้นกำเนิดจากประเทศอินเดีย พัฒนาที่จีน แล้วเผยแพร่เข้าสู่เกาหลีก่อนจะมาถึงประเทศญี่ปุ่น โดยระหว่างนั้นเซนได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิขงจื้อและเต๋ามาด้วย ทั้งนี้เซนมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างแนบแน่น เช่น พิธีชงชา การจัดดอกไม้ วิถีซามูไร เป็นต้น เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้แฝงพุทธปรัชญาแบบเซนที่เน้นการฝึกจิตใจตนเอง และการเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติเอาไว้ด้วย

ชะโด (Chado)

• ชะโด (Chado / 茶道)

“ชะโด (Chado)” หรือ “ซะโด (Sado) หรือ “ชาโนะยุ (Chanoyu)คือ “พิธีชงชาญี่ปุ่น” เป็นประเพณีเก่าแก่ในประเทศญี่ปุ่นที่มีวิถีแห่งเซนผสานอยู่ด้วย เป็นการทำจิตใจให้สงบ สร้างสุนทรีย์ด้วยความเรียบง่าย รวมเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ พิธีชงชาส่วนใหญ่ใช้ชาเขียวผง (Matcha) แทนชาเขียวธรรมดาทั่วไป แต่เดิมแพร่หลายในบรรดาชนชั้นสูง ซึ่งการพบปะในพิธีชงชาช่วยพัฒนาด้านจิตวิญญาณและการเรียนรู้มารยาท

พิธีชงชามีอิทธิพลต่อศิลปะด้านต่าง ๆ ของญี่ปุ่นอย่างมาก เพราะห้องที่ใช้ทำพิธีชงชาจะมีของประดับตกแต่งอยู่ด้วย เช่น ภาพแขวน การจัดดอกไม้ การจัดสวน เป็นต้น นอกจากนี้ พิธีการในการชงชายังมีอิทธิพลต่อการพัฒนามารยาทพื้นฐานของชาวญี่ปุ่นอีกด้วยค่ะ ซึ่งถ้าใครอยากเรียนพิธีชงชา ต้องเรียนที่โรงเรียนเฉพาะ อย่างไรก็ตามที่โรงเรียนของญี่ปุ่นก็มีชมรมชงชาด้วยเช่นกัน

• เอโดะ (Edo / 江戸)

ไม่ต่างจากประวัติศาสตร์ของประเทศอื่น ๆ ญี่ปุ่นมีหลายยุคสมัยด้วยกัน แต่ถ้าพูดถึงยุคโบราณของญี่ปุ่นแล้ว คนคงนึกถึงยุค เอโดะ (Edo)” มากที่สุด เนื่องจากเป็นยุคที่มีความโดดเด่นเรื่องการแต่งกายและการปกครอง ยุคเอโดะมีการแต่งกายในชุดกิโมโน ม้วนผมขึ้น มีโชกุนเป็นผู้ปกครองประเทศ มีทหารเป็นซามูไร ยุคเอโดะมีชื่อเรียกอีกชื่อว่ายุค “โทกุงาวะ (Tokugawa) ซึ่งก็คือ ยุคที่ตระกูลโทกุงาวะขึ้นเป็นโชกุน เริ่มที่ โทกุงาวะ อิเอยาสุ (Tokugawa Ieyasu) ผู้นำในอดีตที่โด่งดังของญี่ปุ่น

ยุคเอโดะอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1603 – 1868 โดยเมืองที่เป็นศูนย์กลางของยุคคือเมืองเอโดะ ซึ่งปัจจุบันก็คือเมืองโตเกียวนั่นเองค่ะ โดยหนึ่งในอารยธรรมที่ยังหลงเหลือจากยุคนี้คือพระราชวัง ซึ่งแต่ก่อนคือปราสาทเอโดะของโชกุนโทกุงาวะ มีบ้านพักของซามูไรกระจายเป็นจุด ๆ เอโดะเป็นยุคหลังสงคราม จึงมีความสงบสุข ชนชั้นที่มีบทบาทสำคัญทางด้านเศรษฐกิจและสังคมคือพ่อค้าแม่ค้า และยุคนี้เป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น ละครคาบูกิ (Kabuki), ภาพอุคิโยะเอะ (Ukiyo-e) รวมถึงอาหารอย่าง ซูชิ และ เทมปุระ ก็เริ่มที่ยุคเอโดะนี้เองค่ะ

ทาทามิ (Tatami)

• ทาทามิ (Tatami / 畳)

หลาย ๆ คนอาจคุ้นกับคำนี้เพราะเคยเห็นในการ์ตูนญี่ปุ่นมาตั้งแต่เด็ก “ทาทามิ (Tatami)คือ “เสื่อญี่ปุ่น” ทำจากต้นกก หรือ อิกุสะ (Igusa) เป็นพืชที่ดูดซับและระบายความชื้นได้ดี เหมาะกับสภาพอากาศของญี่ปุ่นที่ฤดูร้อนมีความชื้นสูง และฤดูหนาวแห้งและเย็น ห้องที่ปูด้วยเสื่อทาทามิเรียกว่า วะชิสึ (Washitsu) และนิยมปูฟูตง (Futon) หรือฟูกสไตล์ญี่ปุ่นนอนกับพื้น ซึ่งห้องที่ปูด้วยเสื่อทาทามิห้ามใส่รองเท้านอกบ้านเข้ามา เพราะทาทามิไม่สามารถล้างทำความสะอาดได้ และถ้าพื้นรองเท้าแข็งจะทำให้หน้าเสื่อเสียหาย จึงต้องใส่รองเท้าภายในบ้านเพื่อเดินบนเสื่อทาทามิ

ชาวญี่ปุ่นนิยมใช้ขนาดของเสื่อทาทามิเป็นหน่วยวัดความกว้างของห้อง โดยทาทามิขนาดมาตรฐานจะมีขนาดกว้าง 91 เซนติเมตร และยาว 182 เซนติเมตร เวลาบอกขนาดห้องก็จะบอกเป็นเสื่อ เช่น ห้องขนาด 5 เสื่อ ก็คือห้องที่มีทาทามิเรียงกันได้ 5 ผืนนั่นเองค่ะ

• เรียวกัง (Ryokan / 旅館)

“เรียวกัง (Ryokan)” คือ “ที่พักสไตล์ญี่ปุ่น” เป็นห้องพักที่ปูด้วยเสื่อทาทามิ (Tatami), มีฟูกนอนเป็นฟูตง (Futon) ซึ่งเป็นทั้งที่นอนและผ้าห่มภายในตัว และมียูกาตะ (Yukata) ให้เปลี่ยนเพื่อแช่ออนเซ็น (Onsen) และจะเสิร์ฟเซ็ตอาหารเช้าแบบไคเซกิ (Kaiseki) ด้วย ปัจจุบันมีการประยุกต์ให้เข้ากับชาวต่างชาติที่มาพักมากขึ้น เช่น มีเตียงนอนแบบตะวันตกให้เลือก หรืออาหารเช้าแบบบุฟเฟต์ แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็มักจะเลือกแบบดั้งเดิมเพื่อสัมผัสวัฒนธรรมความเป็นญี่ปุ่นอย่างเต็มที่

เรียวกังถือกำเนิดขึ้นในสมัยนารา (Nara) (ค.ศ. 710 – 784) เนื่องจากการคมนาคมมีความยากลำบาก พระสงฆ์จึงจัดที่พักให้นักเดินทางโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตระหว่างเดินทาง และเมื่อการคมนาคมพัฒนาขึ้น ที่พักก็พัฒนาตามมาด้วย ปัจจุบันเรียวกังพบได้ตามแหล่งท่องเที่ยว และมักตั้งอยู่ในที่ที่มีสภาพแวดล้อมสวยงาม เช่น ภูเขา ทะเล และบริเวณที่มีน้ำพุร้อนให้แช่ออนเซ็น (Onsen) นั่นเองค่ะ

ออนเซ็น (Onsen)

• ออนเซ็น (Onsen / 温泉)

“ออนเซ็น (Onsen)เป็นคำศัพท์ที่แปลได้ว่า “บ่อน้ำร้อน” แต่คนส่วนใหญ่จะหมายรวมถึงที่พัก และสิ่งอำนวยความสะดวกรอบ ๆ บ่อน้ำร้อนด้วย วัฒนธรรมการแช่ออนเซ็นของประเทศญี่ปุ่นมีมาอย่างยาวนาน เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีภูเขาไฟมาก จึงทำให้น้ำร้อนผุดขึ้นมา ซึ่งบ่อน้ำร้อนเหล่านั้นก็มีคุณสมบัติพิเศษ เนื่องจากมีแร่ธาตุต่าง ๆ สะสมอยู่ เช่น โซเดียม แคลเซียม เป็นต้น จึงช่วยบรรเทาและรักษาโรค รวมทั้งช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง การแช่ออนเซ็นจึงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ สถานที่ที่มีออนเซ็นจึงได้รับการพัฒนาโดยเปิดบริการที่พักแบบเรียวกังเพื่อสร้างความเจริญให้กับท้องถิ่นค่ะ

• เซนโต (Sento / 銭湯)

คนที่ดูการ์ตูนญี่ปุ่นแล้วเจอฉากที่ตัวละครออกไปอาบน้ำนอกบ้าน คงแอบแปลกใจไม่น้อย แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้วถือเป็นเรื่องปกติมาก เพราะในอดีตที่พักอาศัยบางแห่งก็ไม่มีห้องอาบน้ำในตัว จึงต้องไปอาบน้ำที่ “เซนโต (Sento)หรือ “โรงอาบน้ำสาธารณะ” นั่นเองค่ะ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันที่พักอาศัยส่วนใหญ่มีห้องน้ำในตัว เซนโตจึงซบเซาลงกว่าเก่ามากและทยอยปิดตัวลง ถึงกระนั้นเซนโตบางแห่งก็ได้รับการจดทะเบียนเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมเชียวนะคะ จึงถือเป็นกิจกรรมที่น่าลองสักครั้งพอ ๆ กับการแช่ออนเซ็นค่ะ

ทั้งนี้เซนโตมีความแตกต่างจากออนเซ็นเล็กน้อย เพราะมีอ่างอาบน้ำให้แช่รวมกันคล้าย ๆ ออนเซ็น ทั้งยังมีให้เลือกหลายแบบ เช่น อ่างอาบน้ำไฟฟ้า อ่างอาบน้ำสมุนไพร ส่วนที่ต่างกับออนเซ็นคือ น้ำที่อาบจะใช้น้ำปะปาที่ต้มให้ร้อน ไม่ใช่น้ำร้อนจากธรรมชาติอย่างออนเซ็น แต่ในส่วนนี้ก็มีบริการอื่น ๆ ทดแทนให้ เช่น เก้าอี้นวด หรือเก้าอี้เป่าผม ให้นั่งพักผ่อนกันหลังอาบน้ำเสร็จเลยค่ะ

คันจิ (Kanji)

• คันจิ (Kanji / 漢字)

ตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นในปัจจุบันมี 3 แบบ คือ ฮิรางานะ (Hiragana), คาตาคานะ (Katakana) และ คันจิ (Kanji) ซึ่งอักษรคันจิได้รับการเผยแพร่มาจากประเทศจีนผ่านหนังสือต่าง ๆ ที่นำเข้ามาเมื่อสมัยราชวงศ์ฮั่น คำว่า คันจิ อ่านตามเสียงภาษาจีนกลางได้ว่า ฮั่นจื้อ ซึ่งแปลว่าตัวอักษรของชาวฮั่น โดยตัวอักษรคันจิ เป็นตัวอักษรที่พัฒนามาจากอักษรภาพ จึงทำให้มีความพิเศษคือ ในตัวอักษรคันจิ 1 ตัว จะมีเสียง และความหมาย ได้หลากหลาย แล้วแต่ตัวอักษรนั้น ๆ โดยคันจิจะใช้ควบคู่กับตัวอักษรฮิรางานะและคาตาคานะ

• ฮิรางานะ (Hiragana / ひらがな)

“ฮิรางานะ (Hiragana)เป็นหนึ่งในตัวอักษรภาษาญี่ปุ่น เป็นตัวอักษรระบบคานะ คือ ตัวอักษรหนึ่งตัวออกเสียงได้หนึ่งเสียง ต่างจากคันจิที่ออกได้หลายเสียง โดยเป็นได้ทั้งรูปสระและตัวสะกด เริ่มแรกฮิรางานะมีชื่อเรียกว่า อนนาเดะ (Onnade)” ที่แปลว่า มือของผู้หญิง เพราะใช้เขียนโดยผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ ฮิรางานะมาจากการเขียนคันจิแบบเร็ว ๆ จนมีรูปร่างที่เปลี่ยนไป ตัวอักษรนี้ใช้กันเฉพาะขุนนางผู้หญิง ส่วนผู้ชายจะใช้คันจิ (Kanji) กับ คาตาคานะ (Katakana) แต่ในปัจจุบันนั้น คาตาคานะ จะใช้กับคำที่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศ และชื่อต่างชาติ และใช้คันจิกับฮิรางานะเป็นหลัก

ตัวอักษรฮิรางานะมีตัวอักษรทั้งหมด 46 ตัว ใช้สำหรับคำที่ไม่มีในอักษรคันจิ หรือใช้เป็นส่วนท้ายของคำกริยาและใช้เป็นคำช่วย มักพบในสื่อสำหรับเด็ก ตำราเรียน และหนังสือการ์ตูน ทั้งนี้ ตัวอักษรฮิรางานะที่ใช้กำกับคำอ่านของตัวอักษรคันจิ เช่นในการ์ตูนเด็ก จะเรียกว่า “ฟุริงานะ (Furigana)”

เทตสึจิน (Tetsujin)

• มังงะ (Manga / 漫画)

คอการ์ตูนญี่ปุ่นหลายคนเห็นคำนี้ก็คงนึกถึง หนังสือการ์ตูน แน่นอน ซึ่งแท้จริงแล้วคำว่า มังงะ (Manga)” แปลได้ตรงตัวว่า ภาพตามอารมณ์ ซึ่งพัฒนามาจากภาพ อุคิโยะเอะ (Ukiyo-e)” และจิตรกรรมตะวันตก จนกลายเป็นการ์ตูนแบ่งเป็นช่อง ๆ ที่มีภาพและคำพูดแบบที่เห็นในปัจจุบัน ความเป็นมาของมังงะนั้น ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการตามวัฒนธรรมของโลกตะวันตกให้ทันในช่วงปลายยุคศตวรรษที่ 19 ซึ่งญี่ปุ่นได้จ้างศิลปินตะวันตกมาสอนศิลปินญี่ปุ่นเกี่ยวกับองค์ประกอบพื้นฐานทางศิลปะ เช่น เส้น รูปทรง และสี ซึ่งปกติแล้วศิลปินญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับความรู้สึกโดยรวมของภาพมากกว่าสิ่งเหล่านี้

ลักษณะเด่นของมังงะคือตัวละครจะมีตาโตคล้ายชาวตะวันตก โดยเริ่มจากเทะซึกะ โอซามุ ผู้เขียนเรื่องแอสโตรบอยซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาของมังงะ เริ่มวาดตาของตัวละครให้ใหญ่โตตามแบบตัวการ์ตูนดิสนีย์ นอกจากนี้มังงะยังต้องอ่านจากขวาไปซ้าย แตกต่างจากการอ่านหนังสือโดยปกติของบ้านเราอีกด้วย ปัจจุบันมังงะมีรูปแบบลายเส้นและเนื้อเรื่องที่หลากหลาย สำหรับเรื่องที่โด่งดังก็มักจะได้นำไปสร้างเป็นอนิเมะค่ะ

• อนิเมะ (Anime / アニメ)

“อนิเมะ (Anime)” เป็นคำภาษาญี่ปุ่นที่ทับศัพท์มาจากคำว่า “อนิเมชั่น (Animation)” ในภาษาอังกฤษ ที่มาจากภาษาฝรั่งเศสและละตินอีกที โดยมีความหมายว่า “ภาพเคลื่อนไหว”แต่สำหรับคำว่าอนิเมะ มีความหมายเฉพาะตัวในประเทศญี่ปุ่นไปเลย แปลว่า “ภาพยนตร์การ์ตูน” ค่ะ

แน่นอนว่าอนิเมะหรือภาพยนตร์การ์ตูนญี่ปุ่นอยู่คู่กับเด็กไทยมานาน เราจึงค่อนข้างคุ้นเคยกับลายเส้นและวัฒนธรรมต่าง ๆ ในอนิเมะ แม้จะมีความแตกต่างจากการ์ตูนของชาติอื่น ๆ อย่างชัดเจนก็ตาม แนวเรื่องของอนิเมะมีความหลากหลาย ครอบคลุมเกือบทุกแนว ส่วนใหญ่ถูกสร้างเป็นตอน ๆ เพื่อฉายทางโทรทัศน์ แต่ก็มีบางส่วนเหมือนกันที่สร้างเป็นเรื่องยาวและฉายในโรงภาพยนตร์

ส่งท้าย

หมดไปแล้วค่ะกับ 30 คำศัพท์น่ารู้ เกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นและประเพณีดั้งเดิมของประเทศญี่ปุ่น คาดว่าหลายคนคงได้เรียนรู้ศัพท์ญี่ปุ่นใหม่ๆ มากขึ้น หรือไม่ก็ช่วยแก้ไขความเข้าใจผิดบางอย่างให้คลี่คลายลงได้ นอกจากนี้คงรู้สึกได้ว่า ทุกอย่างเกี่ยวกับวัฒนธรรมและประเพณีญี่ปุ่น ล้วนมีความเป็นมาที่น่าสนใจ มีเรื่องราวและความเชื่อต่าง ๆ แฝงอยู่เสมอ ทั้งยังสะท้อนวิถีชีวิตและแนวคิดของชาวญี่ปุ่นอีกด้วยค่ะ

ส่วนคนที่อยากรู้คำศัพท์เกี่ยวกับอาหารญี่ปุ่นโดยเฉพาะ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความนี้เลยค่ะ ⇒ 20 เมนูอาหารญี่ปุ่นยอดนิยมที่ต้องลองเมื่อได้ไปเที่ยวญี่ปุ่น


บทความแนะนำ

บทความที่เกี่ยวข้อง