ช่วงวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี ที่ญี่ปุ่นจะมีการประดับธงปลาคาร์ฟที่หน้าบ้าน รวมถึงสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันเด็กญี่ปุ่นทั้งเด็กชายและเด็กหญิง แต่รู้ไหมคะว่าเดิมแล้ววันนี้เป็นวันสำหรับเฉลิมฉลองเทศกาลเด็กชาย ที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานมาตั้งแต่สมัยเอโดะเลยทีเดียว
ประวัติความเป็นมาของวันเด็กญี่ปุ่น (Kodomo no Hi)
ก่อนที่จะมาเป็นวันเด็กญี่ปุ่น (Kodomo no Hi [こどもの日]) นั้น วันนี้เคยเป็นวันสำหรับเทศกาลเด็กชาย โดยได้รับอิทธิพลมาจากจีน และหมู่บ้านในตระกูลนักรบ ที่มีการประดับธงประจำตระกูลไว้หน้าประตูเมื่อครอบครัวให้กำเนิดบุตรชาย แล้วแพร่หลายมาสู่ประชาชนทั่วไป แต่เพราะไม่สามารถติดธงประจำตระกูลได้จึงใช้ธงปลาคาร์ฟแทน และกำหนดวันสำหรับการเฉลิมฉลองเด็กชาย โดยเริ่มทำมาตั้งแต่สมัยเอโดะ ยุคที่ญี่ปุ่นยังใช้ใช้ปฏิทินจันทรคติ
แต่เดิมเทศกาลเด็กชายจะจัดขึ้นในวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติ และมีชื่อเรียกว่าวัน Tango no Sekku [端午の節句] แต่พอญี่ปุ่นเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินสมัยใหม่ หรือเมื่อปี ค.ศ.1948 รัฐบาลจึงระบุว่าวันเด็กผู้ชายคือวันที่ 5 พฤษภาคม ก่อนจะเปลี่ยนเป็นวันเด็กแห่งชาติในปัจจุบันที่รวมทั้งเด็กชายและเด็กหญิง และรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวันหยุดประจำปีอีก 1 วัน โดยอยู่ช่วงวันสุดท้ายของโกลเด้นวีค (Golden Week) หรือช่วงหยุดยาวของญี่ปุ่น
ในวันเด็กของญี่ปุ่นจะมีการเฉลิมฉลองความสุขของเด็กทั้งประเทศ และระลึกถึงพระคุณของมารดาผู้ให้กำเนิด ผู้หญิงจะสวมชุดกิโมโนที่มีลวดลายสวยงามแต่มีสีพื้นสีดำ เช่น ลายดอกไม้พื้นดำ ส่วนผู้ชายนิยมใส่สูทสีดำ
ธงปลาคาร์ฟ (Koinobori) สัญลักษณ์ประจำวันเด็ก
โคอิโนโบริ (Koinobori [鯉のぼり]) คือ ธงปลาคาร์ฟ เป็นสัญลักษณ์ประจำวันเด็กญี่ปุ่น โดยบ้านที่มีเด็กจะประดับธงปลาคาร์ฟไว้หน้าบ้าน ชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่าปลาคาร์ฟเป็นปลาที่แข็งแรง อดทนเพื่อฝ่าฟันอุปสรรคจนถึงจุดหมายได้เหมือนกับที่สามารถว่ายทวนน้ำเพื่อไปวางไข่ที่ต้นน้ำ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อจากจีนที่ว่า ปลาคาร์ฟเป็นปลาที่แข็งแรง สามารถว่ายทวนแม่น้ำฮวงโหจนกลายเป็นมังกรในที่สุด
ในการประดับธงปลาคาร์ฟจะมีปลาอย่างน้อยสามตัว คือ พ่อ แม่ ลูก โดยปลาคาร์ฟที่แทนพ่อ จะมีสีดำ ตัวใหญ่ที่สุดและอยู่สูงสุด ส่วนแม่จะเป็นสีแดง ลูกเป็นสีฟ้า ถ้ามีสมาชิกในบ้านคนอื่น ๆ ก็สามารถเพิ่มจำนวนปลา และใช้สีส้ม สีเขียว สีม่วงได้ค่ะ
กิจกรรมที่ชาวญี่ปุ่นนิยมทำในวันเด็ก
นอกจากการประดับธงปลาคาร์ฟ (Koinobori) ตามบ้านเรือนและสถานที่ต่าง ๆ แล้ว ชาวญี่ปุ่นยังนิยมทำกิจกรรมในวันเด็กดังต่อไปนี้ค่ะ
ประดับตุ๊กตา หรือ โกะกัตสึ นิงเกียว (Gogatsu Ningyo)
โดยตั้งโต๊ะเพื่อบูชา ทั้งหมวกซามูไร ชุดเกราะ ตุ๊กตานักรบ และตุ๊กตาเด็กผู้ชายที่มีความกล้าหาญตามตำนานหรือนิทานพื้นบ้านของญี่ปุ่น โดยเป็นพิธีที่ทำขึ้นเพื่อให้เด็ก ๆ ระลึกถึงความกล้าหาญของผู้กล้าในอดีต เพราะในยุคโบราณ เด็กอายุประมาณ 15 ปีต้องออกไปทำสงครามแล้ว นอกจากนี้ยังเป็นการบูชาเพื่อให้คุ้มครองเด็ก ๆ จากสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ การตั้งโต๊ะบูชาจะตั้งไว้ประมาณหนึ่งเดือนก่อนถึงวันเด็ก และเก็บภายใน 2 – 5 วันหลังจากนั้นในวันที่อากาศดี เพราะเป็นเคล็ดเพื่อให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง
รับประทานทานคาชิวา โมจิ (Kashiwa-Mochi)
หรือโมจิไส้ถั่วแดงห่อด้วยใบโอ๊ค และขนมชิมากิ (Chimaki) ขนมที่ทำมาจากข้าวเหนียวยัดไส้ถั่วแดงห่อด้วยใบไม้ เนื่องจากต้นโอ๊กหรือคาชิวะและไผ่ เป็นไม้ที่ไม่ผลัดใบจนกว่ายอดอ่อนจะแตกขึ้นมา ชาวญี่ปุ่นจึงยึดเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองของผู้สืบสกุล รวมถึงความแข็งแรงและการประสบความสำเร็จในชีวิต
ให้เด็กๆ อาบน้ำด้วยใบโชบุ (Shobu)
ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่มีลักษณะคล้ายดาบ เพื่อช่วยให้เด็กมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และขจัดสิ่งชั่วร้ายออกไป
จัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้เด็กเข้าร่วม
กิจกรรมที่นิยมจัดในช่วงวันเด็ก เช่น การทำธงปลาคาร์ฟ การทำคาบุโตะหรือหมวกซามูไรด้วยกระดาษ ถ้าเป็นที่โรงเรียนช่วงก่อนวันหยุดยาว จะจัดงานให้เด็ก ๆ ร่วมร้องเพลงประจำวันเด็ก และสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในวันเด็กก็จะมีการจัดกิจกรรมให้เด็กเข้าร่วมอย่างสนุกสนานด้วย
ส่งท้าย
เด็กคืออนาคตของชาติ ดังนั้นการจัดงานวันเด็กเป็นการมอบความสุขให้กับเด็ก ๆ และทำให้เด็ก ๆ ได้รับรู้ถึงความสำคัญของตนเอง เพื่อที่จะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและประสบความสำเร็จในชีวิต และเมื่อนึกหวนถึงวัยเด็กที่มีความสุขก็จะส่งมอบความรู้สึกนี้ให้กับเด็กรุ่นต่อไปค่ะ