เดิมทีแล้วญี่ปุ่นนับปีใหม่ตามปฏิทินจีนคือช่วงตรุษจีน แต่ในสมัยเมจิมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่ความเป็นสากล จึงทำการยึดวันปีใหม่ตามปฏิทินสากลนั่นก็คือวันที่ 1 มกราคมของทุก ๆ ปี อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นยังคงวัฒนธรรมการเฉลิมฉลองปีใหม่ของตัวเองไว้อย่างเดิมจนถึงปัจจุบัน
ในเช้าวันใหม่ ครอบครัวชาวญี่ปุ่นจะล้อมโต๊ะกันรับประทานอาหารชุดที่เรียกว่า “โอเซจิเรียวริ” Osechi ryori (御節料理) ซึ่งอาหารเหล่านี้จะถูกจัดวางในปิ่นโตรูปแบบพิเศษและอาหารจะเป็นอาหารประเภทต้ม ผลไม้แห้ง ผักดองต่าง ๆ ที่มีรสออกไปทางเปรี้ยวและหวาน ทานคู่กับซุปที่ใส่แป้งโมจิลงไป ต่อด้วยของหวานคือ “ขนมโมจิกระจก” Kagami Moji (鏡餅)” โดยจะมีความแตกต่างจากโมจิธรรมดาด้วยการวางก้อนโมจิ 2 ชั้นราดด้วยน้ำเชื่อมดูเงางามเหมือนกับกระจก
โอเซจิเรียวริจะประกอบไปด้วยอาหารที่มีชื่อเป็นมงคล ซึ่งเป็นการเล่นคำพ้องเสียงของภาษาญี่ปุ่น คล้าย ๆ กับการตั้งชื่อขนมมงคลแบบไทย เช่น ทองหยิบ ทองหยอด บัวลอย เป็นต้น ตัวอย่างของอาหารที่มีชื่อมงคลของญี่ปุ่น ได้แก่
“คอมบุ” Konbu (昆布)สาหร่ายคอมบุที่ออกเสียงคล้าย ๆ คำว่า “โยโรโคบุ” Yorokobu(喜ぶ) ที่แปลว่ายินดี มีความสุข
“กุ้ง” Ebi(海老)ทานกุ้งนึ่งหรือต้มด้วยซอสโชยุและหล้าสาเก เพื่อเป็นการแสดงถึงความมีอายุยืนเหมือนกับกุ้งที่มีหนวดยาวเหมือนคนแก่ที่มีเครายาวนั่นเอง
“คามาโบโกะ” Kamaboko(蒲鉾) ลูกชิ้นปลาแท่งยาวที่หั่นเป็นแว่นๆ คามาโบโกะมีลักษณะคล้ายพระอาทิตย์ขึ้นในวันปีใหม่ ทานเพื่อความเจริญรุ่งเรืองดั่งพระอาทิตย์สาดแสง
“ปลาไท้หรือปลากะพงแดง” Tai(鯛)มาจากคำว่า “ไท” ของ “เมเดไท” Medetai (目出度い) ซึ่งแปลว่า เหตุการณ์ที่เป็นมงคล
นอกจากการเสริมมงคลด้วยการรับประทานโอเซจิแล้ว ก็ยังมีการไหว้พระปีใหม่เพื่อขอพรจากเทพเจ้า แล้วเสี่ยงเซียมซีเพื่อดูคำนายดวงชะตาตลอดทั้งปีด้วย จะเห็นได้ว่าคนญี่ปุ่นเองก็มีวัฒนธรรมความเชื่อในเรื่องโชครางและสิริมงคลคล้าย ๆ ของไทยเช่นกัน ในช่วงนี้ร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยหลาย ๆ ร้านก็น่าจะจัดเมนูพิเศษโอเซจิให้คนไทยได้ลิ้มลองเพื่อเสริมมงคลกันบ้างแน่นอน