ระบบขนส่งมวลชนที่นักท่องเที่ยวนิยมใช้เดินทางในประเทศญี่ปุ่นกันมากที่สุดคือรถไฟ ซึ่งตัวช่วยในการซื้อตั๋วที่สะดวกสุด ๆ นั้นก็คือ การใช้บัตร IC Card เติมเงินและชำระค่าโดยสาร โดยไม่ต้องไปหยอดตู้ซื้อตั๋วแต่ละเที่ยวให้วุ่นวาย และที่สำคัญคือบัตรเติมเงินบัตรเดียวก็สามารถใช้งานได้ทั่วญี่ปุ่นเลยค่ะ!
IC Card คืออะไร?
IC Card หรือ Prepaid Card ในญี่ปุ่น คือ บัตรเติมเงินที่ใช้แตะที่เครื่องอ่านเพื่อชำระเงิน โดยสามารถใช้ชำระค่าโดยสารจากบริการของทั้งรัฐบาลและเอกชนเกือบทั้งหมดทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังใช้จ่ายแทนเงินสดเพื่อซื้อสินค้าตามร้านที่ร่วมรายการ โดยจะมีสัญลักษณ์ของบัตรแสดงเอาไว้
สำหรับการใช้งานบัตรนั้นสามารถสรุปได้ดังนี้
- ชำระค่าโดยสารบริการขนส่งสาธารณะ ทั้งของรัฐบาลและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น รถไฟ รถราง รถบัส เรือโดยสาร รวมถึงค่าโดยสารแท็กซี่ (ไม่สามารถใช้กับรถไฟขบวน Limited Express และ Shinkansen ได้)
- ชำระค่าสินค้าในร้านสะดวกซื้อ เช่น 7-11, Lawson, Family Mart
- ชำระค่าสินค้าตามตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ
- ชำระค่าเช่าล็อกเกอร์เก็บของตามสถานีรถไฟ
- ชำระเงินที่ร้านค้าและร้านอาหารที่มีสัญลักษณ์ IC Card ได้
ถ้าให้อธิบายง่ายๆ IC Card ที่ญี่ปุ่นมีลักษณะการใช้งานคล้ายบัตร Rabbit ที่ใช้สำหรับชำระค่าโดยสาร BTS ของบ้านเรานั่นเอง เพียงแต่ในญี่ปุ่นนั้น ทางรัฐบาลและเอกชนได้ร่วมมือกันให้สามารถใช้งานบัตรได้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศแล้ว
ประเภทของบัตร IC Card ในญี่ปุ่น
สามารถแบ่งประเภทของบัตรได้ตามชื่อบัตรซึ่งแตกต่างไปตามบริษัทที่ออกบัตร โดยบัตรหลัก ๆ ที่ใช้ในญี่ปุ่นมีดังนี้
- SUICA ออกโดยบริษัท JR East ซึ่งดูแลรถไฟในเขตภูมิภาคคันโต (Kanto) และโทโฮคุ (Tohoku) นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะรู้จักบัตรนี้เพราะเป็นบัตรที่ซื้อได้ในสถานี JR ในเมืองโตเกียวนั่นเอง
- PASMO ออกโดยบริษัทรถไฟฟ้าใต้ดิน Tokyo Metro ของเมืองโตเกียว การใช้งานแทบไม่ต่างจาก SUICA ของบริษัท JR
- ICOCA ออกโดยบริษัท JR West ทางฝั่งภูมิภาคคันไซ (Kansai) และชูโกกุ (Chugoku) เป็นบัตรที่ควรมีติดตัวสำหรับที่เดินทางมาเที่ยวโอซาก้าหรือจังหวัดโดยรอบ เพราะสามารถใช้เป็นส่วนลดในการซื้อตั๋วรถไฟ JR HARUKA ในการเดินทางเข้าเมืองจากสนามบินคันไซ (Kansai)
- Kitaca ออกโดยบริษัท JR Hokkaido ของภูมิภาคฮอกไกโด (Hokkaido)
- PiTaPa ออกโดยบริษัท Surutto KANSAI จำหน่ายตามตู้จำหน่ายตั๋วในสถานีรถไฟใต้ดินเมืองโอซาก้า ชื่อ PiTaPa ย่อมาจาก Postpay IC for Touch and Pay เป็นบัตรเติมเงินรายเดือนตัดผ่านบัญชีธนาคาร จึงไม่เหมาะกับนักท่องเที่ยว
- TOICA ออกโดยบริษัท JR Central ในส่วนภูมิภาคชูบุ (Chubu) หาซื้อได้ตามสถานี JR Central ในจังหวัดนาโกย่าและจังหวัดใกล้เคียง
- manaca ออกโดยบริษัท Meitetsu และ Nagoya Subway หาซื้อได้ตามตู้จำหน่ายตั๋วของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเมืองนาโกย่า และ Transportation Bureau Service Center
- SUGOCA ออกโดยบริษัทรถไฟ JR Kyushu ทางภูมิภาคคิวชู (Kyushu) ซึ่งอยู่ทางใต้ของญี่ปุ่น คำว่า SUGOCA มาจากภาษาท้องถิ่นของคิวชู แปลว่า “สุดยอด”
- HAYAKAKEN ออกโดย Fukuoka City Subway ซื้อได้ตามตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติที่สถานีรถไฟใต้ดินเมืองฟุกุโอกะ มีแต้มสะสมการใช้งาน
- nimoca ออกโดยบริษัท Nishitetsu ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการรถไฟและรถบัสในเมืองฟุกุโอกะเป็นหลัก
วิธีการทำบัตร IC Card
- ไปที่ตู้จำหน่ายบัตร IC Card ตามสถานีรถไฟ โดยตู้จะมีสัญลักษณ์ของ IC Card หรือสามารถติดต่อซื้อบัตรได้ที่สำนักงานในสถานีรถไฟ
- ถ้าซื้อที่ตู้จำหน่ายบัตร ให้กดเปลี่ยนภาษาเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งตู้ IC Card ในปัจจุบันมีภาษาอังกฤษให้เลือกแล้ว
- เลือกเมนูซื้อ IC Card ประเภทที่ต้องการ
- ชำระเงินค่า IC Card ตามที่แจ้ง จากนั้นก็ได้ IC Card มาใช้งาน ซึ่งในการซื้อบัตรครั้งแรก จะมีค่ามัดจำบัตร 500 เยน เป็นราคาแบบรวมภาษีแล้ว
หมายเหตุ
- IC Card แต่ละประเภท จะมีค่ามัดจำบัตร 500 เยน กล่าวคือในการซื้อบัตรครั้งแรก ถ้าเติมเงินอย่างต่ำ 2,000 เยน จะใช้เงินในบัตรได้ 1,500 เยน และถ้าซื้อบัตรแบบที่มีการลงทะเบียนบัตรเอาไว้ ซึ่งจะมีให้กรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ วันเกิด เบอร์โทรศัพท์ เมื่อบัตรสูญหาย สามารถขอบัตรใหม่ได้
วิธีการเติมเงินบัตร IC Card
- ไปที่ตู้ IC Card ตามสถานีรถไฟ
- เลือกเมนูเติมเงิน (Charge) แล้วเลือกจำนวนเงินที่ต้องการ มีตั้งแต่ 500 เยนขึ้นไป (จำกัดจำนวนเงินคงเหลือในบัตรสูงสุดไม่เกิน 20,000 เยน)
- ชำระเงินค่าเติมเงินแล้วรอรับบัตรคืน
ข้อควรรู้เกี่ยวกับ IC Card
• ยอดเงินไม่พอ
หากไม่สามารถแตะบัตรออกจากสถานีรถไฟได้เนื่องจากยอดเงินคงเหลือในบัตรไม่พอจ่ายค่าโดยสาร เราสามารถไปเติมเงินได้ที่ตู้ปรับราคาตั๋ว (Fare Adjustment) ซึ่งมักตั้งอยู่ใกล้กับที่ตรวจตั๋วตรงทางออก
• การคืนบัตร
จำเป็นต้องนำบัตรไปคืนให้ถูกบริษัท เช่น ถ้าเป็นบัตร SUICA ต้องไปคืนกับ JR East ที่เป็นผู้ออกบัตร ซึ่งถ้าเราข้ามเขตมาเที่ยวที่โอซาก้า แม้จะสามารถใช้บัตรได้ แต่จะไม่สามารถคืนบัตรได้ เพราะไม่อยู่ในเขตของ JR East แล้ว หรืออธิบายง่าย ๆ คือ ซื้อบัตรที่เมืองไหน ให้คืนที่เมืองนั้นจะสะดวกและง่ายที่สุด ส่วนจำนวนเงินที่จะได้เมื่อคืนบัตร คือยอดเงินคงเหลือในบัตร หักค่าบริการ 220 เยน รวมกับค่ามัดจำอีก 500 เยน
ยกตัวอย่าง : ถ้าเหลือเงินในบัตรที่ใช้ได้ 720 เยน เราจะถูกหักเงินค่าบริการ 220 เยน เหลือ 500 เยน เมื่อรวมกับค่ามัดจำบัตร 500 เยน เราจะได้เงินคืนทั้งหมด 1,000 เยน ทั้งนี้ถ้าเงินในบัตรต่ำกว่า 220 เยน หรือเหลือ 0 เยน เราก็จะได้เงินคืนมา 500 เยน
• อายุการใช้งานของบัตร
การทำบัตร IC Card เมื่อทำแล้วสามารถใช้ได้ตลอดชีพ เพียงแต่ไม่มีการใช้งานนาน 10 ปี บัตรจะถูกระงับการใช้งาน ดังนั้นหากมีแผนจะกลับมาเที่ยวญี่ปุ่นอีก ก็สามารถเก็บบัตรไว้ใช้งานในทริปต่อไปได้
ส่งท้าย
จะเห็นได้ว่า IC Card ในญี่ปุ่นนั้นมีประโยชน์หลากหลายมากสำหรับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น นอกจากชำระค่าโดยสารแล้วยังชำระค่าสินค้าและบริการอื่น ๆ ที่เข้าร่วมได้อีกด้วย ทั้งนี้ยังสามารถใช้บริการได้ทั่วประเทศ และด้วยคุณสมบัติของบัตรเติมเงิน จึงเหมาะกับนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้ใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางมากนัก ไม่ต้องซื้อ JR Pass ที่เป็นแบบราคาเหมา ซึ่งอาจใช้งานได้ไม่คุ้มนั่นเอง
บทความเกี่ยวกับรถไฟในญี่ปุ่น
แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในญี่ปุ่น
- สถานที่ท่องเที่ยวในโตเกียว (Tokyo) ที่ต้องมา Check-in!
- สถานที่ท่องเที่ยวในเมืองซัปโปโร (Sapporo) ที่ต้องมา Check-in!
- สถานที่ท่องเที่ยวในเมืองโอซาก้า (Osaka) ที่ต้องมา Check-in!
- สถานที่ท่องเที่ยวในเมืองเกียวโต (Kyoto) ที่ต้องมา Check-in!
- สถานที่ท่องเที่ยวในเมืองนาโกย่า (Nagoya) ที่ต้องมา Check-in!
- สถานที่ท่องเที่ยวในเมืองฟุกุโอกะ (Fukuoka) ที่ต้องมา Check-in!